โดย…ดรนิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Transgenic Research ได้รายงานวิธีการใหม่ในการพัฒนาพันธุ์ปลากดอเมริกัน (channel catfish – Ictalurus punctatus) ที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ในระดับที่สูงขึ้นและการเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้น
ปลากดอเมริกันหรือปลากดหลวง เป็นปลาที่ได้รับความนิยมในการเพาะเลี้ยง แต่มีความจำกัดในการสังเคราะห์กรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นปัญหา เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 3 มีความสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออเบิร์น (Auburn University) ในสหรัฐอเมริกา ได้ถ่ายฝากยีนจากปลาแซลมอนเข้าไปในจีโนมของปลากดอเมริกัน ยีนนี้จะถอดรหัสสำหรับเอนไซม์ที่ช่วยในการผลิตกรดไขมันโอเมก้า 3 และยังใช้การแก้ไขยีนเพื่อกำจัดยีนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต ซึ่งจะทำให้ปลากดอเมริกันโตเร็วขึ้น
ผลการศึกษาพบว่าปลากดอเมริกันที่ดัดแปลงพันธุกรรมมีกรดไขมันโอเมก้า 3 มากกว่าปลากดอเมริกันปกติถึงร้อยละ 41.8 และโตเร็วขึ้นร้อยละ 45.1 ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าปลากดอเมริกันดัดแปลงพันธุกรรมอาจเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและยั่งยืนมากกว่า
ครับ เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการดัดแปลงพันธุกรรม หรือ การแก้ไขยีน มีศักยภาพในการพัฒนาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://link.springer.com/article/10.1007/s11248-023-00346-w?fbclid=IwAR3D1OBafnzVzUqaQHKI69EpRNphCxcP_EgJi4e4FdhVmZyTLaK_sfIZQ4k