โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
Bacillus Thuringiensis (BT) เป็นแบคทีเรียสายพันธุ์หนึ่งที่ผลิตโปรตีนซึ่งเป็นพิษต่อแมลงบางชนิด ด้วยเหตุนี้จึงถูกใช้เป็นจุลินทรีย์ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูที่ปลอดภัยมานานกว่า 50 ปี เพื่อควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูพืช
Dr. Joel Ochieng หัวหน้าโครงการเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร (Agricultural Biotechnology Programme) แห่งมหาวิทยาลัยไนโรบี (University of Nairobi) ประเทศเคนยา กล่าวว่า เคนยาสูญเสียข้าวโพดร้อยละ 60 ในระดับแปลงเพาะปลูกเนื่องจากหนอนเจาะลำต้น ซึ่งข้าวโพดบีที (ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม) สามารถลดการสูญเสียนี้ได้
ระหว่างการเยือนมณฑล Baringo, West Pokot, Trans-Nzoia และ Uasin Gishu, Dr. Ochieng อธิบายว่า ข้าวโพดบีทีได้รับการพัฒนาเพื่อให้ป้องกันตัวเองจากหนอนเจาะลำต้น โดยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการถ่ายฝากยีนจากแบคทีเรียเข้าสู่ข้าวโพด เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของหนอนเจาะลำต้น
Dr. Ochieng ตั้งข้อสังเกตว่า ชาวเคนยาใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูจำนวนมากในแปลงข้าวโพด ซึ่งไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ผลผลิตข้าวโพดมีราคาแพงขึ้น
“ขณะนี้เรากำลังสื่อสารอย่างดีที่สุดและเรียบง่ายที่สุดในการทำให้ชาวเคนยามีความรู้สึกว่า พันธุวิศวกรรมที่ใช้ยีนจากแบคทีเรียที่ไม่เป็นอันตรายเพื่อถ่ายฝากให้กับข้าวโพดทำได้อย่างไร และจะช่วยเพิ่มการปกป้องข้าวโพดจากแมลงศัตรูได้อย่างไร”
ครับ แทนที่ภาครัฐจะทำความเข้าใจกับประชาชน แต่กลับไม่สนับสนุนการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรม ให้ดูเคนยา เป็นตัวอย่าง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kenyanews.go.ke/farmers-tipped-to-adopt-bt-maize-for-higher-yields/