เอเปค มองหาแนวทางแก้ปัญหากฎระเบียบและนโยบาย สำหรับเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

ตัวแทนกว่า 120 คนจากกลุ่มประเทศสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) ได้มาประชุมกันที่ศูนย์การประชุมซีแอตเทิล (Seattle Convention Center) เพื่อหาแนวทางแก้ไขด้านกฎระเบียบและนโยบายสำหรับการกำกับดูแลเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ที่อิงตามวิทยาศาสตร์และตามความเสี่ยงที่เหมาะสม หัวข้อที่ใช้คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อลดความซ้ำซ้อนและการสร้างประสิทธิภาพ (Workshop on Reducing Redundancies and Facilitating Efficiencies)

งานนี้จัดโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) และสถาบันระบบอาหารเกษตร (Agriculture Food Systems Institute – AFSI) การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้ APEC 2023 High Level Policy Dialogue on Agricultural Biotechnology (HLPDAB)

Dr. Andrew Roberts ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AFSI กล่าวว่า องค์ประกอบที่สำคัญสำหรับความร่วมมือด้านกฎระเบียบที่ประสบความสำเร็จ จะรวมถึง การมีเป้าหมายร่วมกัน เครื่องมือที่ใช้ร่วมกัน ความสามารถทางเทคนิคที่ใช้ร่วมกัน ความไว้วางใจและความสัมพันธ์ และการมีความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับประโยชน์ และได้เน้นย้ำว่า ความร่วมมือด้านกฎระเบียบมีหลายรูปแบบในหลายมิติ แต่การที่จะทำให้บรรลุความสำเร็จอาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย อย่างไรก็ตาม ความคิดริเริ่มของ HLPDAB ถือเป็นเวทีสำหรับความร่วมมือด้านกฎระเบียบระหว่างกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเปก

Dr. Rhodora Romero-Aldemita ผู้อำนวยการบริหาร จาก International Service for the Acquisition of Agri-biotech Applications Inc. (ISAAA Inc.) ได้เข้าร่วมในการอภิปราย เพื่อให้แน่ใจว่าประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมและแก้ไขยีนนั้น ได้ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาอย่างเหมาะสม

นอกเหนือจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับกฎระเบียบและนโยบายแล้ว HLPDAB ยังให้ความสำคัญกับนักวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งเริ่มต้นในอาชีพ และนวัตกรรมของพวกเขา 16 คน เพื่อการพัฒนาใหม่ ๆ ในเทคโนโลยีเกษตรชีวภาพ และเน้นบทบาทของเยาวชนในด้านนวัตกรรม สตาร์ทอัพเชิงนวัตกรรมที่นำเสนอ ได้แก่ การเพิ่มสารอาหารทางชีวภาพของเมล็ดข้าวผ่านการแก้ไขจีโนมเพื่อแก้ปัญหาการขาดธาตุสังกะสีในภูมิภาค ซึ่งนำเสนอโดย Mr. Erwin Arcillas ผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติในฟิลิปปินส์ งานวิจัยนี้ใช้เทคโนโลยี CRISPR และ TALENs เพื่อพัฒนาเมล็ดข้าวที่อุดมด้วยสังกะสี

นอกเหนือจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาล นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการแล้ว องค์กรเกษตรกรและตัวแทนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ยังได้เข้าร่วมในกิจกรรม เพื่อแบ่งปันความคิดเห็นในเรื่องที่หารือและรับประกันความร่วมมือด้านกฎระเบียบที่ครอบคลุมระหว่างผู้เล่นหลัก

ครับ เป็นการพูดคุยในระดับสากลเพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไขด้านกฎระเบียบและนโยบายสำหรับการกำกับดูแลเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ที่อิงตามวิทยาศาสตร์และตามความเสี่ยงที่เหมาะสม

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ knowledge.center@isaaa.org.