โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
ในความพยายามที่จะบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก 3 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California – UC) เสนอให้ใช้เครื่องมือแก้ไขยีน CRISPR กับจุลินทรีย์ในลำไส้ของวัว และส่งต่อจุลินทรีย์ที่แก้ไขยีนทางปากให้กับลูกวัว ซึ่งจะมีผลในระบบจุลินทรีย์ในลำไส้ ลูกวัวสามารถใช้จุลินทรีย์ที่แก้ไขยีนจนโตเต็มวัย ซึ่งจะสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ตลอดชีวิต
Prof. Ermias Kebreab และ AProf. Matthias Hess จาก UC Davis ผู้ตรวจสอบร่วมหลักของโครงการ จะร่วมกับผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ Prof. Jennifer Doudna และ Prof. Jill Banfield จาก UC Berkeley และ Prof. Sue Lynch จาก UC San Francisco ในโครงการที่จะใช้ CRISPR เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนในปศุสัตว์ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนและสุขภาพ Doudna และ Banfield จะสร้างชุดเครื่องมือใหม่ที่ใช้ CRISPR และ metagenomics (เป็นศาสตร์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการนำข้อมูลของจีโนมิกส์ (genomics) มาใช้
เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคมตามธรรมชาติ ในรูปแบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต) กับ microbiomes (จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์) ที่ซับซ้อน Lynch จะใช้กลยุทธ์การแก้ไขจีโนมเพื่อทดสอบผลกระทบต่อสุขภาพ Hess จะทดสอบจุลินทรีย์และพัฒนากลยุทธ์การควบคุมชีวภาพ (biocontainment strategies) ในห้องปฏิบัติการ และผลที่ได้จะถูกใช้โดย Kebreab เพื่อนำไปใช้กับสัตว์ในภาคสนาม Kebreab เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสัตว์ที่เป็นที่รู้จักจากผลการศึกษาที่ลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากวัวได้มากถึงร้อยละ 82 ด้วยสารเติมแต่งอาหารสาหร่ายทะเล
วัวเป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทนอันดับต้น ๆ ในสหรัฐอเมริกา การปล่อยก๊าซมีเทนเหล่านี้ถูกเร่งโดยการเรอของวัว ซึ่งเกิดจากจุลินทรีย์ที่ผลิตก๊าซในลำไส้ของสัตว์ การสร้างจุลินทรีย์ในลำไส้ให้ผลิตมีเทนน้อยลงสามารถจำกัดการปล่อยก๊าซก่อนที่จะถูกเรอออกมา และการลดการปล่อยก๊าซมีเทนด้วยวิธีใด ๆ ที่เป็นไปได้จะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศภายในทศวรรษหน้า
ครับ เป็นที่ทราบดีว่าภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรได้ จะเป็นผลดีต่อผู้ผลิตในอนาคต
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ucdavis.edu/food/news/can-crispr-cut-methane-emissions-cow-guts