โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่นกำลังพยายามพัฒนาสายพันธุ์ปลาแมคเคอเรลให้มีความก้าวร้าวน้อยลง โดยใช้วิธีการผสมผสานระหว่างการเก็บไข่อย่างเป็นระบบและการแก้ไขจีโนม การเพาะพันธุ์ปลาแมคเคอเรลที่มีความอ่อนโยนมากขึ้นจะช่วยให้ปรับปรุงการเพาะเลี้ยงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากขึ้น
การเก็บไข่ปลาที่ปฏิสนธิทันทีหลังการผสมพันธุ์มีความสำคัญต่อการแก้ไขจีโนมของปลาให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้น นักวิจัยจึงควบคุมสภาพแวดล้อมในการผสมพันธุ์ของปลาแมคเคอเรลอย่างระมัดระวังในระหว่างกระบวนการวางไข่ โดยการฉีดฮอร์โมนที่ปล่อย gonadotropin (ทำหน้าที่กระตุ้นและควบคุมการทำงานของต่อมเพศ) เข้าไปในกล้ามเนื้อหลังของปลาตัวเมียเพื่อส่งเสริมการสุกแก่ของไข่ ปลาแมคเคอเรลจะถูกทิ้งไว้ในถังวางไข่เป็นเวลา 34 ถึง 36 ชั่วโมง กระบวนการวางไข่จะสิ้นสุดลงเมื่อนักวิจัยเพิ่มอุณหภูมิของน้ำเป็น 23 องศาเซลเซียส สำหรับสารที่ใช้ในการแก้ไขจีโนม จะทำให้ arginine vasotocin receptor V1a2 ของปลาแมคเคอเรลถูกกำจัดออกไป โดยจะฉีดสารเข้าไปในไข่ปลาแมคเคอเรลที่ปฏิสนธิหลังจากกระบวนการวางไข่
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า V1a2 ถูกยับยั้งการทำงาน ซึ่งช่วยลดพฤติกรรมการกินเนื้อของปลาแมคเคอเรลลงได้ร้อยละ 46 ในระยะฟักเป็นตัวอ่อน (fry stage) นอกจากนี้ยังลดความถี่ของการชนของปลากับผนังและการใช้ออกซิเจน พฤติกรรมก้าวร้าวน้อยลงของปลาจะเป็นประโยชน์ต่อการเพาะเลี้ยงและการผลิต นักวิทยาศาสตร์ตั้งใจที่จะค้นหาว่าสิ่งนี้จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของปลาหรือไม่
ครับ เป็นการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาไม่ว่าจะในพืช ปศุสัตว์และปลา
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nature.com/articles/s41598-023-30259-x