งานวิจัยชี้ชัดข้าวดัดแปลงพันธุกรรม ทางเลือกใหม่ที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารที่เกิดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

การศึกษาชิ้นใหม่จาก University of Sheffield ในอังกฤษ ได้เผยให้เห็นว่าการดัดแปลงพันธุกรรมข้าวให้มีความทนทานต่อเกลือ อาจช่วยให้สามารถปลูกได้ในที่ที่ปลูกข้าวไม่ได้ ซึ่งเป็นผลของการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยังช่วยแก้ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารของโลก

เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำเค็มจะท่วมพื้นที่มากขึ้นและทำลายพืชผลที่ไม่สามารถรับมือกับความเค็มที่เพิ่มขึ้นได้ ข้าวเป็นหนึ่งในพืชที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและเติบโตได้ยากขึ้นเนื่องจากการรบกวนของน้ำเค็มที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มวิจัยจากสถาบันอาหารยั่งยืนแห่งมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (University of Sheffield’s Institute for Sustainable Food) เปิดเผยว่า การดัดแปลงพันธุกรรมข้าวเพื่อลดจำนวนปากใบทำให้ทนต่อเกลือได้มากขึ้น ซึ่งการศึกษาก่อนหน้านี้โดยนักวิทยาศาสตร์ของเชฟฟิลด์พบว่า การลดจำนวนและขนาดของปากใบในต้นข้าวทำให้ข้าวใช้น้ำน้อยลงถึงร้อยละ 40 ทำให้สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มักจะเกิดภัยแล้ง การค้นพบนี้พร้อมกับผลลัพธ์ใหม่ ๆ ชี้ให้เห็นว่าข้าวสามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่รุนแรงได้

นักวิจัยยังค้นพบด้วยว่า การลดจำนวนและขนาดของปากใบจะทำให้ข้าวเติบโตได้ยากขึ้นในอุณหภูมิที่ร้อนจัด ทีมวิจัยจึงตั้งข้อสังเกตว่า เพื่อให้แน่ใจว่าข้าวจะเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ กัน จำเป็นต้องมีการดัดแปลงพันธุกรรมที่แตกต่างกัน เช่น ข้าวที่มีปากใบน้อยกว่าและใหญ่กว่าจะเหมาะกว่าที่จะปลูกในอุณหภูมิที่ร้อนจัด

ครับ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อให้ปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงนั้นจึงมีความจำเป็น ซึ่งการดัดแปลงพันธุกรรมจึงเป็นวิธีการที่มีความสำคัญยิ่ง

อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://www.sheffield.ac.uk/news/genetically-modified-rice-could-be-key-tackling-food-shortages-caused-climate-change