พลูงาช้างดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อลดมลพิษทางอากาศภายในอาคาร (บ้าน)

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

Neoplants ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในปารีสได้ทำการดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งต้นพลูงาช้างหรือพลูด่างอินเดีย (Epipremnum aureum) และจุลินทรีย์ธรรมชาติ (microbiome) ที่พบอยู่บนผิวราก และเรียกต้นนี้ว่า Neo P1 ซึ่งสามารถฟอกอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพเที่ยบเท่ากับมีต้นไม้ในบ้าน 30 ต้น

อากาศที่หมุนเวียนในบ้านส่วนใหญ่มีมลพิษมากกว่าอากาศภายนอกถึง 5 เท่า เนื่องจากสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds – VOCs) สารประกอบเหล่านี้รวมถึงโมเลกุลที่ก่อมะเร็ง ซึ่งปล่อยออกมาจากตัวทำละลายและสารเคลือบเงาที่ใช้ในเครื่องเรือน สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและสุขอนามัยส่วนบุคคลส่วนใหญ่ พืชทั่วไปที่ทดสอบโดย National Aeronautics and Space Administration (NASA) บางครั้งสามารถดักจับ VOCs ได้ แต่ไม่มีวิธีรีไซเคิลให้เป็นองค์ประกอบที่มีประโยชน์ พืชเหล่านั้นก็จะเป็นแหล่งสะสมมลพิษที่เป็นอันตราย Neo P1 แทนที่จะกักเก็บมลพิษ แต่จะเปลี่ยน VOCs ให้เป็นน้ำ น้ำตาล กรดอะมิโน และออกซิเจน

Neo P1 ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยใช้ชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) หรือซินไบโอ (synbio) ได้รับการดัดแปลงทางชีวภาพเพื่อดักจับและรีไซเคิล VOCs หลัก 4 ชนิด ได้แก่ ฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) เบนซีน (benzene) โทลูอีน (toluene) และไซลีน (xylene) อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการดัดแปลงเมแทบอลิซึม (metabolism) ที่ล้ำสมัยและวิวัฒนาการโดยตรงของ microbiome ที่มีศักยภาพสูงในพลูงาช้างหรือพลูด่างอินเดียที่นิยมปลูกในบ้าน การรวมกันของทั้ง 2 สิ่ง (ต้นพลูงาช้างหรือพลูด่างอินเดีย และจุลินทรีย์ธรรมชาติ (microbiome) ที่พบอยู่บนผิวราก) ช่วยให้นักพัฒนาเพิ่มความสามารถในการฟอกอากาศของพืชได้อย่างมาก

ครับ เป็นผลิตภัณฑ์จากชีววิทยาสังเคราะห์ที่น่าสนใจ เพื่อลดมลพิษภายในอาคาร

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://neoplants.com/product