โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
ในการประชุมครั้งที่ 147 ของคณะกรรมการประเมินผลพันธุวิศวกรรมของอินเดีย (Genetic Engineering Appraisal Committee – GEAC) ที่อยู่ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Ministry of Environment, Forest and Climate Change – MoEF&CC) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2565 โดยมี Shri Naresh Pal Gangwar รองปลัดกระทรวง MoEF&CC เป็นประธาน คณะกรรมการได้แนะนำให้ปลดปล่อยมัสตาร์ดดัดแปลงพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อมในประเทศ
คำแนะนำนี้จัดทำขึ้นสำหรับ Dhara Mustard Hybrid-11 (DMH-11) ซึ่งเป็นมัสตาร์ดพันธุ์ลูกผสมดัดแปลงพันธุกรรมที่พัฒนาโดย Dr. Deepak Pental อดีตรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเดลี (University of Delhi) มัสตาร์ดพันธุ์ลูกผสมดัดแปลงพันธุกรรม DMH-11 นี้ ได้รับการพัฒนาที่ศูนย์การจัดการทางพันธุกรรมของพืชผล (Centre for Genetic Manipulation of Crop Plants – CGMCP) วิทยาเขตมหาวิทยาลัยเดลีใต้ (University of Delhi South Campus) DMH-11 มาจากพ่อแม่ สายพันธุ์ bn 3.6 ที่มียีน barnase และ bar และ สายพันธุ์ modbs 2.99 ที่มียีน barstar และ bar
ในคำแนะนำ คณะกรรมการระบุว่าการปลดปล่อยมัสตาร์ดพันธุ์ลูกผสมดัดแปลงพันธุกรรม DMH-11 สู่สิ่งแวดล้อม เพื่อการผลิตและการทดสอบเมล็ดพันธุ์เป็นไปตามแนวทางของ ICAR (สภาวิจัยการเกษตรอินเดีย) ที่มีอยู่และกฎ/ระเบียบข้อบังคับอื่น ๆ ก่อนที่จะปลดปล่อยเชิงพาณิชย์ เงื่อนไขข้อหนึ่งสำหรับคำแนะนำนี้ระบุว่า การอนุญาตมีระยะเวลาจำกัด 4 ปี นับจากวันที่ออกหนังสืออนุญาต และสามารถต่ออายุได้ครั้งละ 2 ปี
ครับ ถ้าประเทศไทยเป็นห่วงเรื่องการส่งออก ก็น่าจะเลือกใช้กับพืชที่ไม่ส่งออกก็ได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.geacindia.gov.in/Uploads/MoMPublished/MoMPublishedOn20221025200345.pdf