โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
ทีมนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกาได้ลำดับจีโนมของแอปเปิ้ลสายพันธุ์ Honeycrisp เพื่อทำความเข้าใจพื้นฐานทางพันธุกรรมในลักษณะที่สำคัญของแอปเปิ้ลและผลไม้ชนิดอื่น ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับปรุงพันธุ์
Awais Khan รองศาสตราจารย์ จาก School of Integrative Plant Science ที่ Cornell AgriTech และเป็นผู้เขียนบทความที่ลงพิมพ์ในวารสาร Gigabyte กล่าวว่า การปลูกแอปเปิลสายพันธุ์ Honeycrisp อาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย “ถึงแม้จะมีลักษณะที่ดีหลายลักษณะ แต่ก็เป็นหนึ่งในสายพันธุ์แอปเปิลที่ปลูกยากที่สุด เนื่องจากมีปัญหามากมายทางสรีรวิทยาและหลังการเก็บเกี่ยว”
โดยสายพันธุ์ Honeycrisp จะมีปัญหาในการรับสารอาหารที่ไม่เพียงพอและต้องการโปรแกรมการจัดการสารอาหารเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ ทั้งนี้ Khan กล่าวว่า หากไม่มีการจัดการดังกล่าว ต้นแอปเปิลจะมีการพัฒนาอาการที่เรียกว่า zonal leaf chlorosis ซึ่งใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและม้วนงอ เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตและสารอาหารไม่สมดุล นอกจากนี้ แอปเปิลสายพันธุ์ Honeycrisp ยังอ่อนแอต่อความผิดปกติต่าง ๆ เช่น เปลือกที่มีรสขม อันเนื่องมาจากความไม่สมดุลของแคลเซียม และโรค bitter rot จากการติดเชื้อรา ปัญหาดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากพันธุกรรมและการจัดการที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่อาจทำให้ปัญหาแย่ลงได้
เทคโนโลยีการลำดับพันธุกรรมทำให้สามารถ ลำดับ รวบรวม และเผยแพร่จีโนมของสายพันธุ์ Honeycrisp ได้ในเวลาอันสั้น และด้วยการใช้วิธีการขั้นสูง พบว่า จีโนมของสายพันธุ์ Honeycrisp จะครอบคลุมร้อยละ 97 ของยีนที่แปลระหัสออกมาเป็นโปรตีนทั้งหมด เมื่อเทียบกับจีโนมของสายพันธุ์ Golden Delicious ในปีที่ลำดับเมื่อปี 2553 ที่ครอบคลุมยีนเพียงร้อยละ 68 เท่านั้น
ครับ การลำดับจีโนมเป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://news.cornell.edu/stories/2022/10/honeycrisp-genome-will-help-scientists-breed-better-apples