โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
เมื่อวันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมฟังสัมมนาผ่านเว็บที่ใช้หัวข้อว่า Know the Science (ทำความเข้าใจในวิทยาศาสตร์) เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าล่าสุดของพืชดัดแปลงพันธุกรรมในฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดโดย ISAAA Inc. ร่วมกับศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพของ SEARCA และโครงการเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรและการประมงของฟิลิปปินส์ (โครงการ DA-Biotech) มีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
ข้าวโพดบีทีในฟิลิปปินส์
เริ่มประเมินตามข้อกำหนดในการกำกับดูแลในโรงเรือนเมื่อปี 2539 เริ่มทดสอบในแปลงที่จำกัดในปี 2541 และเริ่มทำแปลงทดสอบหลายพื้นที่ในปี 2543 จนเสร็จสิ้นและได้รับอนุญาตให้เพาะปลูกเชิงการค้าได้ในปี 2545 ซึ่งใช้เวลารวมทั้งหมดประมาณ 6 ปี
ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จครั้งนี้ คือ การมีนโยบายที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ การกำกับดูแลที่อยู่บนฐานวิทยาศาสตร์ การมีส่วนร่วมและ ผลิตภัณฑ์ การมีชุมชนที่เข้มแข็งและเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ การมีความร่วมมือที่ดีกับผู้พัฒนาเทคโนโลยี และการมีความเชื่อมโยงที่ดีกับภาคการผลิตข้าวโพด
หลังจากได้รับอนุญาตให้ปลูกข้าวโพดบีทีได้ในปี 2545 ก็ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นในระหว่างปี 2546 – 2553 ใกล้ถึงจุดอิ่มตัว (ใกล้เต็มพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมดของประเทศ) ในระหว่างปี 2554 – 2560 โดยในปี 2560 จะมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมทั้งหมด 4.25 ล้านไร่ โดยร้อยละ 99.6 เป็นข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมที่มี 2 ลักษณะ คือ ต้านทานแมลงศัตรู และทนทานสารกำจัดวัชพืช
ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมที่ผ่านการอนุญาตให้เพาะปลูกได้ในฟิลิปปินส์ ปัจจุบันมี 5 พันธุ์ คือ MON 810 ของ Monsanto (2545) Bt11 ของ Syngenta (2548) MON89034 ของ Monsanto (2553) TC 1507 ของ Pioneer (2556) และ MIR 162 ของ Syngenta (2561)
อะไรคือเหตุผลในการยอมรับข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม มีหลายเหตุผล ได้แก่ ผลผลิตที่สูงกว่าข้าวโพดปกติ ต้านทานศัตรูพืช ผลผลิตมีคุณภาพ มีเงินช่วยเหลือ ต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เข้าถึงเมล็ดพันธุ์ได้ง่าย ทำตามเกษตรกรเพื่อนบ้าน และมีความรู้สึกว่าปลอดภัย
การยอมรับในข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชย์ ดังนี้คือ ต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งมาจากลดการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู ร้อยละ 60 และลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ในการกำจัดวัชพืชและการพ่นสารป้องกันกำจัด ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 34 – 41 เมื่อเทียบกับข้าวโพดปกติ และมีรายได้สูงขึ้น ระหว่าง 7,080 – 10,132 เปโซ เมื่อเทียบกับข้าวโพดปกติ
ข้าวสีทองในฟิลิปปินส์
เป็นข้าวดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้มี เบต้า แคโรทีน สูง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่จะถูกพัฒนาต่อเป็นวิตามินเอ การบริโภคข้าวสีทองเป็นประจำ ผู้บริโภคก็จะได้รับวิตามินเออย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ไม่เป็นโรคขาดวิตามินเอ โดยเฉพาะในเด็กที่ขาดวิตามินเอ จะทำให้เกิดโรคตามืดบอด รวมทั้งมีระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลง
เนื่องจากเป็นข้าวดัดแปลงพันธุกรรมจึงมีคำถามว่า มีความปลอดภัยในการบริโภคหรือไม่ ซึ่งจากการประเมินความปลอดภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศแคนาดา ออสเตรลีย-นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และฟิลิปปินส์ ได้ให้ความเห็นว่า ข้าวสีทองมีความปลอดภัยเทียบเท่าข้าวปกติ แต่มีประโยชน์มากกว่าตรงที่มี เบต้า แคโรทีน สูงในเมล็ด
รสชาติของข้าวสีทองก็เหมือนกับข้าวปกติ ซึ่งสารเบต้า แคโรทีน ไม่ได้มีผลต่อรสชาติ กลิ่น และลักษณะเนื้อสัมผัสของข้าว
ปริมาณเบต้า แคโรทีนของข้าวสีทอง 1 ถ้วย จะเทียบเท่ากับ ผักบุ้ง (Kangkong) 12 ถ้วย
เด็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 5 ปี ทานข้าว เฉลี่ย 87.3 กรัมต่อวัน จะได้รับวิตามินเอจากข้าวสีทอง 63.9 ไมโครกรัม
เด็กที่มีอายุระหว่าง 6 ปี ถึง 12 ปี ทานข้าว เฉลี่ย 178.6 กรัมต่อวัน จะได้รับวิตามินเอจากข้าวสีทอง 130.7 ไมโครกรัม
ข้าวสีทองได้รับการอนุญาตให้เพาะปลูกได้ในฟิลิปปินส์ ในปี 2564 จึงได้เริ่มต้นทำการขยายเมล็ดพันธุ์ ซึ่งคาดว่าจะมีเมล็ดพันธุ์เพียงพอสำหรับใช้ในพื้นที่เพาะปลูก 3.12 ล้านไร่ในปี 2570 ซึ่งทำใน 10 ภูมิภาค 17 จังหวัดและในระหว่างการขยายเมล็ดพันธุ์ ก็ให้ความรู้เกษตรกร ผู้บริโภค รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางนโยบายทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
ล่าสุดเกษตรกรที่ปลูกข้าวสีทองใน Maguindanao ในฤดูฝนปี 2565 ได้ทำการเก็บเกี่ยวข้าว และได้ผลผลิต 7.8 ตันต่อเฮกตาร์ ที่ระดับความชื้น 11.8 %
ครับ สำหรับประเทศไทยยังไม่มีความก้าวหน้าใด ๆ เลย
ฟังรายละเอียดการสัมมนาได้ที่ https://www.isaaa.org/webinars/2022/ktsnbw2022webinar1/default.asp