ใช้ CRISPR เพื่อแก้ไขยีนในแมลงหวีปีกลายจุดให้เป็นหมัน

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

ด้วยการใช้เทคโนโลยี CRISPR นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโก (University of California San Diego) ในสหรัฐอเมริกา ได้ตั้งเป้าหมายที่จะกำจัดศัตรูพืชที่ทำลายพืชอาหารที่ระบาดไปทั่วโลก

นักวิจัยที่ประกอบด้วย Nikolay Kandul, Omar Akbari และคณะ ได้ปรับปรุงเทคนิคที่มีความแม่นยำ เพื่อทำให้แมลงศัตรูเป็นหมัน (precision-guided sterile insect technique – pgSIT) เพื่อใช้กับDrosophila suzukii หรือที่เรียกว่า spotted-wing drosophila (แมลงหวีปีกลายจุด) ซึ่งเป็นแมลงวันผลไม้ที่สร้างความเสียหายหลายล้านดอลลาร์ให้กับพืชผล

แมลงหวี่ปีกลายจุดได้รุกรานพื้นที่ต่างๆ ของโลก และทำให้เกิดความเสียหายทางการเกษตรและเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางต่อพืชผลหลายชนิด รวมทั้งแอปเปิ้ล เชอร์รี่ ราสเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ พีช องุ่น มะกอก และมะเขือเทศ

แมลงหวี่ปีกลายจุดขยายพันธุ์โดยการวางไข่ไว้ในผลไม้ที่กำลังเติบโต การพ่นสารป้องกันกำจัดไม่สามารถควบคุมได้เนื่องจากตัวอ่อนจะกินอยู่ในเนื้อผลไม้

ทีมวิจัยของ UC San Diego ได้ใช้การแก้ไขยีนเป้าหมายซึ่งเป็นยีนที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของตัวเมียของD. suzukii และที่จำเป็นต่อการเจริญพันธุ์ของตัวผู้ด้วยเทคนิคCRISPR ไข่ที่ได้จาก pgSITจะถูกปล่อยในบริเวณที่แมลงศัตรูสร้างความเสียหายได้โดยตรง และมีเพียงตัวผู้ที่เป็นหมันเท่านั้นที่จะฟักออกมาหลังจากผ่านไปประมาณสองสัปดาห์เนื่องจากมีเพียง2 ยีนที่ถูกทำให้หยุดทำงาน

ตัวผู้จึงสมบูรณ์เพียงพอที่จะแข่งขันกับตัวผู้ปกติที่มีอยู่ทั่วไปและแสวงหาตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ลูกหลานไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นเพียงลดจำนวนประชากรของแมลงศัตรูเป้าหมายเท่านั้น แต่จะสามารถลดการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูได้อย่างมีนัยสำคัญ

ครับ เป็นเทคนิคที่มีศักยภาพสูงในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://ucsdnews.ucsd.edu/pressrelease/crispr-based-technology-targets-global-crop-pest