โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นักวิจัยจาก Chinese Academy of Sciences และมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) รายงานว่า การแก้ไขยีน DUO1 ที่เป็นปัจจัยในการถอดรหัสที่ตอบสนองต่อ APETTALA2 / ethylene(AP2/ERF) อาจทำให้ผลผลิตเมล็ดข้าวสาลีดีเพิ่มขึ้น การค้นพบนี้รายงานอยู่ในวารสาร Nature Plants
ข้าวสาลีเป็นพืชอาหารที่สำคัญชนิดหนึ่งของโลก เพื่อช่วยพัฒนาการผลิตพืชอาหาร มีความจำเป็นต้องระบุตำแหน่งใหม่ในจีโนมข้าวสาลี ที่สามารถช่วยพัฒนาผลผลิตได้ ดังนั้น นักวิจัยจึงได้วิเคราะห์ยีนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับจำนวนดอกย่อย
พวกเขาได้ตรวจสอบ bdduo1 ซึ่งเป็นยีนดอกย่อยกลายพันธุ์ของ Brachypodiumdistachyonซึ่งเป็นหญ้าพื้นเมืองทางใต้ของทวีปยุโรป พบว่ามีจำนวนดอกย่อยต่อรวงเพิ่มขึ้น และได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของ BdDUO1 ในการควบคุมรูปร่างของรวงใน Brachypodiumdistachyon ผ่านการทดสอบหลายชุด
จากนั้นใช้ CRISPR-Cas9 แก้ไขยีนจนได้ข้าวสาลีที่มีดอกย่อยหลายดอกตรงส่วนล่างของช่อดอก นอกจากนี้ จากการถ่ายภาพสดยังแสดงให้เห็นว่ามีเซลล์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ใน จุดที่เป็นฐานกำเนิดดอกย่อยของข้าวสาลีที่แก้ไขยีน เมื่อเทียบกับดอกย่อยของพันธุ์ป่า ซึ่งอาจบ่งบอกว่ายีนดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์
การทดสอบภาคสนามแสดงให้เห็นว่าต้นข้าวสาลีที่แก้ไขยีนจะมีเมล็ดต่อรวงมากกว่าพันธุ์ป่า ซึ่งบ่งชี้ว่ามีผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่เพิ่มขึ้น
ครับ เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตข้าวสาลีโดยการเพิ่มจำนวนเมล็ดต่อรวง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nature.com/articles/s41477-022-01197-9