ผู้เชี่ยวชาญใช้ CRISPR ในการแก้ไขยีนของพืชเพื่อดักจับคาร์บอน

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

Innovative Genomics Institute (สถาบันนวัตกรรมจีโนม – IGI) ซึ่งก่อตั้งโดย Jennifer Doudnaผู้ร่วมพัฒนา CRISPR ได้เปิดตัวโครงการวิจัยที่จะแก้ไขยีนในพืชเพื่อให้ดักจับคาร์บอนได้มากขึ้นและช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การดักจับคาร์บอนจะเกี่ยวข้องกับต้นไม้เนื่องจากต้นไม้มีอายุที่ยาวนานทำให้สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามพืชที่เจริญเติบโตเร็ว ก็จะทำให้นักวิจัยมีโอกาสเร่งกระบวนการทดสอบ และเมื่อมีพืชที่ดักจับคาร์บอนจำนวนมากขึ้นก็สามารถดูดเอาคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศออกไปได้ในปริมาณมากขึ้นซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นได้

นักวิจัยจึงตั้งเป้าที่จะปรับแต่งกระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อให้พืชเจริญเติบโตเร็วขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการนี้ และลดปฏิกิริยาข้างเคียงที่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน รวมถึงปฎิกิริยาบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนักวิจัยยังตั้งเป้าที่จะปรับปรุงระบบราก ซึ่งจะสามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนในดินได้มากขึ้น การวิจัยเบื้องต้นนี้จะเน้นการศึกษาในข้าว

Brad Ringeisenกรรมการบริหารของ IGI กล่าวว่า “สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เรากำลังทำงานกับความซับซ้อน” นอกจากนี้ยังหวังว่าเมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “พืช จุลินทรีย์ และการเกษตรสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา มากกว่าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา”

ครับ หวังว่าโครงการวิจัยนี้จะประสบความสำเร็จ เพื่อประโยชน์โดยรวมของโลก

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.technologyreview.com/2022/06/14/1053843/carbon-capture-crispr-crops/