ประโยชน์ที่เห็นชัด จากการเปลี่ยนไปใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

การศึกษาที่ทำโดยสถาบันการศึกษาและการวิจัยอาหารสัตว์ (Institute for Feed Education and Research – IFEEDER) พบว่า การไม่ใช้อาหารสัตว์ที่มาจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์ปีก และยังสามารถนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งลดโอกาสในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ

การศึกษานี้ทำขึ้นเพื่อตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ หากผู้ผลิตอาหารสัตว์ในสหรัฐอเมริกาต้องผลิตอาหารสัตว์ที่ไม่ได้มาจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่าของของอาหารสัตว์ ในความสลับซับซ้อนของกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบที่มาจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม และที่ไม่ได้มาจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม

ประเด็นสำคัญที่ได้จากการศึกษา คือ

-เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับเกษตรกรในขั้นต้น แต่ต้นทุนเหล่านี้จะถูกชดเชยด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดลง และเพื่อโน้มน้าวให้เกษตรกรยังคงทำการเพาะปลูกโดยไม่ใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรม จะต้องปรับราคาซื้อขายผลผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยส่วนต่างของต้นทุนการผลิต

-การใช้เมล็ดพันธุ์ปกติที่ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม จะต้องใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นในการเพาะปลูกแต่การใช้เมล็ดพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม จะทำให้เกิดการประหยัดพื้นที่นับล้านเอเคอร์ และลดการเปลี่ยนที่ดินให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมอย่างมีนัยสำคัญ

-ระบบการปลูกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมโดยไม่ไถพรวน จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุดสำหรับดีเซลที่เผาไหม้ในการปฏิบัติงานภาคสนาม แต่การใช้ข้าวโพดปกติที่ไม่ได้ดัดแปลงพันธุกรรมจะไม่ได้รับประโยชน์นี้

-การใช้เมล็ดพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมและเทคโนโลยีอื่น ๆ จะปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ไนโตรเจน จากการศึกษาในข้าวโพดเพียงอย่างเดียว พบว่าข้าวโพดปกติจะต้องใช้พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ9 เพื่อให้ได้ผลผลิตในระดับเดียวกับข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม

-การแยกวัตถุดิบที่มาจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมออกจากวัตถุดิบที่ไม่ได้มาจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม จะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต และโรงงานผลิตอาหารสัตว์จะต้องขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ในสัดส่วนที่มากที่สุด

-ราคาขายปลีกของเนื้อสัตว์ นม หรือไข่ที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ไม่ได้มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสัตว์ที่เลี้ยงด้วยอาหารที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม

ครับ เป็นการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของพืชดัดแปลงพันธุกรรม ที่นำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ ทางด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://ifeeder.org/research/gmfree-feed-report/