โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
ศูนย์วิทยาศาสตร์ด้านพืช (Crop Science Centre)ซึ่งเป็นพันธมิตรกับUniversity of Cambridge และสถาบันพฤกษศาสตร์การเกษตรแห่งชาติ (National Institute of Agricultural Botany) สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ จะทำการทดสอบภาคสนามข้าวบาร์เล่ย์ดัดแปลงพันธุกรรม (GM) และข้าวบาร์เลย์แก้ไขยีน(GEd) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้ปุ๋ยสังเคราะห์(เคมี) ส่งเสริมสุขภาพของดินที่ดีขึ้น และวิธีการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม
การปลูกมีกำหนดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าการปรับปรุงปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชกับเชื้อราในดินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จะช่วยให้พืชดูดซับน้ำพร้อมด้วยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในดินได้หรือไม่ ซึ่งธาตุทั้ง2 มักให้พืชโดยใช้ปุ๋ยสังเคราะห์
การประเมินนี้จะเกี่ยวข้องกับข้าวบาร์เลย์ดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อเพิ่มระดับการแสดงออกของยีน NSP2 ที่ช่วยเพิ่มความสามารถที่มีอยู่ในการมีปฎิสัมพันธ์กับเชื้อราไมคอร์ไรซา นอกจากนี้ยังจะเกี่ยวข้องกับพันธุ์ข้าวบาร์เลย์แก้ไขยีนที่สามารถยับยั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา (arbuscular mycorrhiza)เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินรูปแบบของการมีปฏิสัมพันธ์และหาเชิงปริมาณว่าจุลินทรีย์นั้นสนับสนุนการพัฒนาของพืชได้อย่างไร
การทดสอบภาคสนามจะประเมินการผลิตข้าวบาร์เลย์ภายใต้สภาวะที่มีฟอสเฟตสูงและต่ำ ตลอดจนตรวจสอบการป้องกันพืชที่อาจเกิดขึ้นจากแมลงศัตรูพืชและโรคพืช ที่เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับเชื้อราไมคอร์ไรซา
นักวิทยาศาสตร์เน้นว่าเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่า เพื่อให้ทางเลือกสำหรับเกษตรกรทั่วโลก ในกรณีนี้ การพัฒนาข้าวบาร์เลย์ที่ลดการพึ่งพาปุ๋ยสังเคราะห์ จะช่วยให้เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มการผลิตอาหาร
ในทางกลับกัน การลดการใช้ปุ๋ยสังเคราะห์ในประเทศที่มีรายได้สูงและปานกลางจะลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ครับ เมื่อไหร่ประเทศไทยจะเริ่มมีการทดสอบภาคสนามพืชดัดแปลงพันธุกรรมอีกครั้งหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cam.ac.uk/research/news/crop-science-centre-to-conduct-field-trials-of-genetically-modified-barley-that-could-reduce-need