โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นักวิทยาศาสตร์จากสเปนได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงและประโยชน์ (risk-benefit analysis) เพื่อทบทวนผลกระทบของผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรม (genetically modified – GM) ที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม แม้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวที่จำกัด
จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าจนถึงปัจจุบันนี้ การใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ในทางกลับกัน ประโยชน์ที่ได้รับทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพสำหรับประชาชนแล้วนั้น เป็นผลมาจากการค้าพืชดัดแปลงพันธุกรรมเชิงพาณิชย์
การวิเคราะห์ได้ ระบุ ประโยชน์ของพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีส่วนในการแก้ปัญหาที่เป็นความท้าทายระดับโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เช่น การบรรลุความมั่นคงด้านอาหารสำหรับประชากรโลกที่กำลังเติบโต
พืชดัดแปลงพันธุกรรมช่วยเพิ่มผลผลิตโดยไม่ต้องเปลี่ยนที่ดินให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมในการเพาะปลูก จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นซึ่งอาจทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง
พืชดัดแปลงพันธุกรรมยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยมีผลผลิตที่สูงขึ้น การพัฒนาประสิทธิภาพ การผลิตและการลดต้นทุนส่งผลให้เกิดความได้เปรียบทางเศรษฐกิจทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การยอมรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมของสาธารณชนยังคงเป็นความท้าทาย เนื่องจากผู้บริโภคยังคงสงสัยเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมแม้ว่าจะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จากการทบทวนผลการสำรวจสาธารณะล่าสุดเกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ของพืชดัดแปลงพันธุกรรม พบว่าความสงสัยเกิดขึ้นจากเหตุ 2 ปัจจัย
ปัจจัยแรก จะเกี่ยวกับคุณธรรมและการโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้นำว่า อาหารดัดแปลงพันธุกรรมไม่ได้ส่งผลให้เกิดประโยชน์ใด ๆ และปัจจัยที่สอง จะเกี่ยวกับการจัดการกับความกังวลทางอารมณ์โดยใช้ความห่วงใยทางอารมณ์อื่น แม้จะไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค
แต่ผลการสำรวจสาธารณะชี้ให้เห็นว่า มีการยอมรับจากสาธารณชนมากขึ้นเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรม ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะว่า จำเป็นต้องมีการให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชากรเพื่อจัดการกับทัศนคติทางคุณธรรมที่มีต่อสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
โดยสรุป การวิเคราะห์พบหลักฐานว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมสามารถช่วยเอาชนะวิกฤตอาหารโลกและปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นอาหารเสริมและวัคซีนที่กินได้โดยไม่ต้องพึ่งภาคอุตสาหกรรมเพื่อการผลิต
ดังนั้น อาหารดัดแปลงพันธุกรรมจึงต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นอาหารแบบดั้งเดิม และความปลอดภัยของอาหารจะต้องได้รับการจัดลำดับความสำคัญมากกว่า ลักษณะและคุณสมบัติของการดัดแปลงพันธุกรรม
นักวิจัยยังเน้นย้ำว่าการอภิปรายเกี่ยวกับอาหารดัดแปลงพันธุกรรมควรอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากกว่าอารมณ์ และผลประโยชน์ด้านสุขภาพของผู้บริโภคจำเป็นต้องได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อขจัดความสงสัยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
ครับ ในบ้านเราความเชื่อบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ยังสู้ความเชื่อทางอารมณ์ไม่ได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mdpi.com/2076-3417/12/6/2861