โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Rothamsted Research ในอังกฤษ ได้ดัดแปลงพันธุกรรมพืชเพื่อให้สร้างสารเคมีที่สำคัญหลายชนิดเป็นสารเคมีที่ใช้ผลิตสิ่งของทั่วไปในชีวิตประจำวัน เหมือนที่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะสารเคมีในกลุ่มโมเลกุลที่เรียกว่า 4-VPs (vinyl phenols) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอาหารและเครื่องสำอาง และยังรวมถึงพลาสติกที่ใช้ในหน้าจอโทรทัศน์และโทรศัพท์มือถือ
นักวิจัยได้รายงานความก้าวหน้าในการเปลี่ยนวิถีการเผาผลาญ (metabolic pathway เป็นชุดของปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในเซลล์ ในแต่ละวิถี สารเคมีหลักจะเกิดปฏิกิริยาเคมีและเปลี่ยนไปเป็นสารอื่น โดยมีเอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา)ใน camelina (พืชในตระกูลกะหล่ำ ที่มีน้ำมันในเมล็ด) เพื่อสร้างอนุพันธ์ของผลิตภัณฑ์ที่อาจมีประโยชน์
ในวารสาร Metabolic Engineering นักวิจัยได้อธิบายว่า พวกเขาใส่ยีนเข้าไปในต้น camelinaได้อย่างไร เพื่อให้แสดงเอนไซม์แบคทีเรียที่เหมาะสมในเมล็ดที่กำลังพัฒนา ที่ใช้เปลี่ยนเส้นทางกระบวนการเผาผลาญตามปกติของพืช ดังนั้นแทนที่จะผลิตสาร sinapine ก็จะผลิตโมเลกุล 4-VP ในรูปแบบอิสระหรือติดอยู่กับน้ำตาลพืชแทน
โมเลกุล 4-VP มีการใช้งานที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่มักใช้แต่งกลิ่นรสสำหรับอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หนึ่งในนั้นคือ 4-vinyl guaiacol มีรสและกลิ่นหอมเหมือนกานพลู ในขณะที่ 4-vinylsyringol หรือที่เรียกว่า Canolol สามารถใช้เป็นวัตถุกันเสียในอาหารได้
ส่วน 4-vinyl phenol ใช้ทำ PVP หรือ polyvinylphenol ซึ่งเป็นพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหน้าจอ LCD ที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน
ครับ เป็นการสร้างมูลค่าพืชให้กับพืชที่เพาะปลูก
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rothamsted.ac.uk/news/scientists-developing-crop-replaces-fossil-fuels-source-key-industrial-compounds