โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
การศึกษาของUniversity of Bonn ประเทศเยอรมันนี คาดการณ์ว่าหากสหภาพยุโรป (European Union – EU) อนุญาตให้เพาะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีอยู่แล้ว จะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางการเกษตรลดลง เทียบเป็นร้อยละ 7.5 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางการเกษตรของยุโรป
นักวิจัยเน้นว่า การเพิ่มผลผลิตด้วยการเพาะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่สามารถช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังไม่เคยมีการศึกษาทางด้านปริมาณมาก่อน โดยการศึกษานี้ นักวิจัยมุ่งเน้นไปที่สหภาพยุโรป เนื่องจากภูมิภาคนี้ยังไม่ยอมรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมอย่างกว้างขวาง และขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินนโยบายด้านกฎระเบียบใหม่
ผลการศึกษานี้พบว่า การปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในสหภาพยุโรปสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 33 ล้านตันของ CO2เทียบเท่า (CO2 equivalents)ต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับร้อยละ7.5 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางการเกษตรทั้งหมดของสหภาพยุโรปในปี 2560
นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่า การเพาะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมจะทำให้สหภาพยุโรปมีการส่งออกเพิ่มขึ้น มีการนำเข้าลดลง และสามารถช่วยลดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในประเทศพันธมิตรที่ยุโรปนำเข้า
ทั้งนี้ได้ยกข้าวโพดและถั่วเหลืองเป็นตัวอย่าง ที่ยุโรปนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลืองจากบราซิล และรวมถึงจากประเทศอื่นๆ และเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการถั่วเหลือง บางส่วนของป่าอะเมซอนของบราซิลจึงถูกแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งวถ้าสหภาพยุโรปเพาะปลูกถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมก็สามารถช่วยบรรเทาการตัดไม้ทำลายป่าในเขตร้อนชื้นในพื้นที่ของป่าอเมซอน
ดังนั้น การเพาะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในยุโรปไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย
ครับ เป็นการศึกษาและมีข้อสรุปที่ชัดเจน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://linkinghub.elsevier.com/retrieve/pii/S1360138522000048