ผู้ประกอบอาชีพด้านปศุสัตว์ชาวเคนยา วอนให้รัฐนำเข้าอาหารสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรม

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ในเคนยากำลังมองเห็นอนาคตอันมืดมน หลังจากเกิดการขาดแคลนอาหารสัตว์อย่างสาหัส ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผลักดันให้ต้นทุนการเลี้ยงปศุสัตว์ในประเทศสูงเกินไป ทำให้เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าส่วนผสมอาหารดัดแปลงพันธุกรรม ที่มีราคาถูกและหาได้ง่ายในตลาดโลก

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนอาหารสัตว์อย่างหนัก ทำให้เกษตรกรบางรายต้องลดจำนวนปศุสัตว์ที่เลี้ยงลง และบางรายต้องยกเลิกการเลี้ยง นอกจากนี้โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ 36 แห่งได้ปิดตัวลงภายในหนึ่งปีที่ผ่านมาเนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์

Daiichi Farm ซึ่งเป็นฟาร์มสุกรขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเคนยา กำลังเผชิญกับการปิดตัวลง เว้นแต่สถานการณ์ด้านอาหารสัตว์จะได้รับการแก้ไขให้เกิดผลทันที ทั้งนี้ฟาร์มได้ลดจำนวนการเลี้ยงลงจาก 3,000 ตัวเป็น 1,500 ตัว และลดจำนวนพนักงานลงกว่าครึ่ง

Jennifer Koome ผู้อำนวยการ Daiichi Farm กล่าวว่า การขาดแคลนอาหารสัตว์ ทำให้ราคาอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสุกรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ30 เป็นร้อยละ65 นั่นคือสภาวะการขาดทุน Michael Koomeประธานและเจ้าของร่วมของฟาร์ม จึงได้เรียกร้องต่อรัฐบาลในการอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมซึ่งเป็นส่วนผสมหลักที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ Koomeเตือนว่าหากยังขาดแคลนอาหารสัตว์อยู่ ฟาร์มของพวกเขาและที่อื่นๆ อาจจะต้องปิดตัวลง

โดยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ผู้ผลิตอาหารสัตว์ในประเทศได้ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลให้ยกเลิกการห้ามนำเข้าอาหารดัดแปลงพันธุกรรม และอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับประกาศให้ยกเว้นภาษีขาเข้าสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่ได้มาจากการดัดแปลงพันธุกรรมที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ แม้จะเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่นักวิเคราะห์Tegemeoกล่าวว่า การประกาศดังกล่าว ไม่ได้ทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์ลดลง เนื่องจากทั่วโลกก็ขาดแคลนถั่วเหลืองและข้าวโพดปกติที่ไม่ได้ดัดแปลงพันธุกรรม

ทั้งนี้เพราะกว่าร้อยละ 80 ของอุปทานถั่วเหลืองและร้อยละ 30 ของข้าวโพดที่มีจำหน่ายในตลาดต่างประเทศมาจากการดัดแปลงพันธุกรรม

ครับ สถานการณ์คล้ายคลึงกับบ้านเรา แต่ต่างกันตรงผู้ได้รับผลกระทบมากคือผู้บริโภค

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ Dr. Margaret Karembuได้ที่ อีเมล์ mkarembu@isaaa.org.