โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
วันนี้จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนน้ำท่วม ที่รองรับการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศของโลก
สิ่งที่น่ากังวลมาจากผลการศึกษาล่าสุดของ NASA ที่ประเมินว่า การผลิตข้าวทั่วโลกน่าจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร็วที่สุดในปี 2030
หนึ่งในบรรดาผู้ที่พยายามลดการสูญเสียข้าว ซึ่งเป็นพืชธัญพืชที่สำคัญเป็นอันดับ 2 ของโลก คือ Pamela Ronald ซึ่งเป็นนักพันธุศาสตร์พืช มีห้องปฎิบัติการที่ใช้ทำการวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเดวิส (University of California Davis)
งานวิจัยหลัก คือ การศึกษายีนที่ควบคุมความต้านทานต่อโรค และความทนทานต่อความเครียดจากสิ่งแวดล้อมในพืชอาหาร ผลงานวิจัยที่มีการนำไปใช้ประโยชน์โดยเกษตรกรในอินเดียและบังคลาเทศมากกว่า 6 ล้านคน คือพันธุ์ข้าวที่มียีนต้านทานโรค
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ใช้เวลาทำงานกับชาวนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดบ่อยขึ้นและเป็นสิ่งจำกัดผลผลิตข้าวในพื้นที่ที่ต้องเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม ซึ่งมีการประเมินว่าข้าวจำนวน 4 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับเลี้ยงคน 30 ล้านคน จะสูญหายไปทุกปีจากน้ำท่วม
เพื่อลดการสูญเสียดังกล่าว ทีมวิจัยได้ใช้ประโยชน์จากข้าวอินเดียโบราณ โดยการจำแนกยีนของข้าว และนำยีนดังกล่าวถ่ายฝากให้กับพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกในพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมนี้สามารถทนทานต่อน้ำท่วมได้นานถึง 2 สัปดาห์และมีผลผลิตมากกว่าร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับพันธุ์ข้าวทั่วไป
ครับ เมื่อไหร่เกษตรกรไทยจะได้ใช้ประโยชน์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรม
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wbur.org/hereandnow/2021/11/24/rice-floods-climate-change