หน่วยงานภาครัฐบราซิลสำเร็จพัฒนาถั่วจีเอ็มโอให้เกษตรกรรายย่อยเพาะปลูก

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

      นับว่าเป็นความสำเร็จของเกษตรกรรายย่อยและการวิจัยของภาครัฐ ที่ทำให้ร้านขายของชำในบราซิลวางขายถั่วดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้านทานต่อโรคพืชที่เข้าทำลายอย่างรุนแรง ถั่วดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าว เป็นถั่วที่พัฒนาโดยบริษัท Embrapa ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการเกษตรที่รัฐบาลเป็นเจ้าของสามารถต้านทาน Bean Golden Mosaic Virus (BGMV) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส และทำให้เกิดความสูญเสียประมาณ 300,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับใช้บริโภคจำนวน15 ล้านคน

      สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ว่า ถั่วแขก (common beans) ซึ่งใช้เป็นอาหารในบราซิลและเป็นแหล่งโปรตีนหลักสำหรับคนนับล้าน มีราคาสูงขึ้นอย่างมาก การปรับขึ้นของราคานี้เกิดจากผลผลิตที่ลดลง โดยที่ชาวบราซิลโดยเฉลี่ยบริโภคถั่วประมาณ 15 กิโลกรัมต่อปี

      ในความพยายามที่จะป้องกันวิกฤตการณ์อาหารประเภทนี้ ที่ส่งผลกระทบทางลบต่อผู้บริโภคที่ยากจนที่สุดของประเทศ สถาบันวิจัยภาครัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ แม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมาย แต่บริษัท Emprapa ก็สามารถพัฒนาถั่วจีเอ็มโอที่ต้านทานต่อ BGMV ได้ประมาณร้อยละ70 ของผลผลิตถั่วแขกของบราซิลผลิต

    ทั้งนี้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งมักจะสูญเสียผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 40 ถึง 100 ให้กับเชื้อไวรัส เกษตรกรจะต้องควบคุมแมลงหวี่ขาวที่เป็นพาหะในการแพร่กระจายโรค โดยการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูจำนวน 15 ถึง 20 ครั้งตลอดช่วงฤดูปลูก

     Francisco Aragao หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของโครงการและนักวิจัยอาวุโสของบริษัท Embrapa ประกาศว่าเกษตรกรที่ปลูกถั่วดัดแปลงพันธุกรรมนั้นคาดว่า จะมีผลกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ถึง 78 ในขณะที่ลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเหลือเพียง 3 ครั้งต่อฤดูปลูก หากเกษตรกรบราซิลร้อยละ 30 ใช้เทคโนโลยีนี้ เกษตรกรก็จะได้รับผลกำไรเพิ่มขึ้น 200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

    หลังจากเสร็จสิ้นการพัฒนาที่ใช้เวลามากถึง 20 ปี รวมถึงการดำเนินงานด้านกฎระเบียบ และการอนุญาตเพื่อการเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ ทำให้ถั่วดัดแปลงพันธุกรรมมีวางจำหน่ายแล้วในซูเปอร์มาร์เก็ต

      บราซิลเป็นผู้ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยการอนุญาตพืชดัดแปลงพันธุกรรมจำนวน104 กรณี (events) และมีพื้นที่ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม จำนวน 331.25 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นถั่วเหลือง ข้าวโพด และฝ้าย

      สำหรับถั่วแขกดัดแปลงพันธุกรรมชนิดใหม่นี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับการวิจัยในภาคส่วนของรัฐซึ่งแสดงให้เห็นว่าการลงทุนในพันธุ์พืชของท้องถิ่นนั้นคุ้มค่าที่จะเป็นทางออกสำหรับปัญหาในระดับท้องถิ่น และเป็นการเปิดประตูสู่การปรับปรุงพันธุ์พืชที่หลากหลายมากขึ้น

     การวิจัยของภาครัฐ สามารถได้รับการส่งเสริมเพิ่มเติมโดยการใช้ประโยชน์จากกรอบการกำกับดูแลของบราซิลที่พิจารณาพืชส่วนใหญ่ที่มาจากการแก้ไขยีนเป็นพืชที่มาจากการปรับปรุงพันธุ์ปกติ ดังนั้นจึงได้รับการยกเว้นจากกระบวนการกำกับดูแลที่ใช้เวลานานซึ่งจำเป็นสำหรับพืชที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม

       Aragao รายงานก่อนหน้านี้ว่า เขาและทีมของเขากำลังดำเนินการปรับปรุงสำหรับถั่วแขกของบราซิลนี้ต่อไป และกำลังผสานรวมเทคโนโลยีใหม่ คือ การแก้ไขยีนเพื่อให้ทนต่อความแห้งแล้งได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อพัฒนาพืชชนิดใหม่ด้วย เช่น ผักกาดหอมและละหุ่ง

      การวิจัยภาครัฐที่ขยายออกไปสู่พืชชนิดอื่น ๆ จะเป็นประโยชน์สำหรับระบบการผลิตอาหารของบราซิลและครอบครัวเกษตรจำนวน 4.4 ล้านครอบครัวในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจกับพืชท้องถิ่น

      ครับ เป็นที่น่ายินดีกับเกษตรกรบราซิลที่มีรัฐบาลที่สนับสนุนงานวิจัยและการเพาะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://allianceforscience.cornell.edu/blog/2021/10/gmo-bean-benefits-brazils-consumers-and-smallholder-farmers/