นักวิจัย ม.จอร์เจีย ค้นพบเชื้อเพลิงจากพืชใช้กับเครื่องบิน ลดคาร์บอนฯได้ร้อยละ 68

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

      งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย (University of Georgia) ซึ่งนำโดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อว่า Puneet Dwivedi ได้พบว่า การเปลี่ยนเชื้อเพลิงสำหรับการบินที่ใช้ปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนจากต้นมัสตาร์ดชนิดหนึ่ง สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึงร้อยละ 68

     ทีมงานของ Dwivedi ได้ประเมินจุดคุ้มทุนและการปล่อยคาร์บอนในวงจรของเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (sustainable aviation fuel- SAF) จากการใช้น้ำมันที่ได้จากพืชตระกูล Brassica carinata ซึ่งเป็นพืชที่มีน้ำมันที่บริโภคไม่ได้ในเมล็ด carinata ปลูกเป็นพืชฤดูหนาวในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา

      เนื่องจากฤดูหนาวในภาคใต้ไม่รุนแรงเท่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นในประเทศ carinata จะถูกปลูกนอกฤดูปลูกดังนั้นจึงไม่ต้องแข่งขันกับพืชอาหารอื่น ๆ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านอาหารกับเชื้อเพลิง

      Dwivedi กล่าวว่า การปลูก carinata ให้ประโยชน์เช่นเดียวกับการปลูกพืชคลุม (cover crops) ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพน้ำ สุขภาพของดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ และการผสมเกสร

      Dwivedi เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับพลังงานหมุนเวียนขั้นสูงจาก Carinata (Southeast Partnership for Advanced Renewables from Carinata – SPARC) ซึ่งเป็นโครงการมูลค่า 15 ล้านดอลลาร์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันอาหารและการเกษตรแห่งชาติของกระทรวงเกษตรสหรัฐ

       นักวิจัยจะใช้เวลา 4 ปีในการศึกษาวิธีการปลูก carinata ในตะวันออกเฉียงใต้ และหาคำตอบเกี่ยวกับพันธุกรรมที่เหมาะสม รวมทั้งแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับผลผลิตพืชและน้ำมันสูงสุด ด้วยคำตอบเหล่านี้จะทำให้ Dwivedi มีความมั่นใจในบทบาทของ Carinata ในการสนับสนุนเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค

     ครับ จะเห็นได้ว่าพืชมีศักยภาพที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาที่เหมาะสม

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://news.uga.edu/plant-based-jet-fuel-could-reduce-emissions-by-68/