รัฐบาลอังกฤษอนุมัติแปลงทดสอบพันธุ์ข้าวสาลีแก้ไขจีโนมแล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

     กระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการชนบทแห่งสหราชอาณาจักร (United Kingdom Department for Environment, Food and Rural Affairs – Defra) ได้อนุญาตให้ Rothamsted Research (สถาบันวิจัยทางการเกษตร) ทำการทดสอบภาคสนามพันธุ์ข้าวสาลีแก้ไขจีโนม

     พันธุ์ข้าวสาลีที่ใช้ในการทดสอบภาคสนาม เป็นพันธุ์ที่ได้รับการแก้ไขยีนเพื่อลดระดับกรดอะมิโนแอสพาราจีน(asparagine) ซึ่งเป็นกรดที่จะถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็ง อะคริลาไมด์ (acrylamide) เมื่อนำไปอบหรือปิ้ง

      ศาสตราจารย์ Nigel Halford หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ระดับแอสพาราจีนสามารถลดลงได้อย่างมากในข้าวสาลี โดยไม่กระทบต่อคุณภาพของเมล็ด การทำเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยการลดการสัมผัสอะคริลาไมด์จากอาหาร และธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นการปฎิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยการมีอะคริลาไมด์ในผลิตภัณฑ์

      จากการทดลองในห้องปฎิบัติการ นักวิจัยสามารถ “ขจัด” ยีนที่ควบคุมการสังเคราะห์แอสพาราจีน (asparagine synthetase) TaASN2 ได้

      Dr. Sarah Raffan   นักวิทยาศาสตร์ในโครงการ  กล่าวว่า ความเข้มข้นของแอสพาราจีนในเมล็ดข้าวสาลีที่แก้ไขยีนลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับเมล็ดข้าวสาลีที่ไม่ได้รับการแก้ไขยีน โดยมี 1 สายพันธุ์แสดงการลดลงมากกว่าร้อยละ 90

      การทดสอบที่มณฑล Hertfordshire จะเป็นการทดสอบภาคสนามครั้งแรกของพันธุ์ข้าวสาลีที่แก้ไขยีนด้วย CRISPR ในสหราชอาณาจักรหรือยุโรป

      อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.rothamsted.ac.uk/news/genome-edited-wheat-field-trial-gets-go-ahead-uk-government