โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
จากการใช้ CRISPR-Cas9 ทำให้นักวิจัยจากสถาบัน Army’s Institute for Collaborative Biotechnologies และ University of California Santa Barbara ในสหรัฐอเมริกา สามารถกำหนดเป้าหมายยีนเฉพาะที่เชื่อมโยงกับภาวะเจริญพันธุ์ในยุงตัวผู้
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Proceedings of the National Academy of Sciences แสดงให้เห็นว่า การกลายพันธุ์ของยุงตัวผู้สามารถยับยั้งการเจริญพันธุ์ของยุงตัวเมียได้อย่างไร
ทีมวิจัยได้ทำให้ยีนกลายพันธุ์ในยุงตัวผู้ เพื่อทำให้เกิดการเป็นหมันที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั่วไปของยุงโดยการแก้ไขยีนในยุง Aedes aegypti (ยุงลายบ้าน หรือยุงไข้เหลือง)
นักวิจัยพบว่า ยุงตัวผู้ที่กลายพันธุ์ไม่ได้ผลิตสเปิร์ม (sperm – อสุจิ))แต่ทีมวิจัยไม่แน่ใจว่าต้องใช้สเปิร์มเพื่อทำให้ยุงตัวเมียมีลูก หรือต้องใช้เฉพาะ seminal fluid (ส่วนที่เป็นของเหลว ที่หล่อเลี้ยงsperm เท่านั้น)
ในการทดลองหนึ่ง ทีมวิจัยได้ใช้ยุงตัวผู้กลายพันธุ์ 15 ตัวอยู่รวมในกลุ่มของยุงตัวเมีย 15 ตัวเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นเปลี่ยนมาใช้ยุงตัวผู้พันธุ์ป่า (wild type)15 ตัว ทีมวิจัยพบว่ายุงตัวเมียทั้งหมดยังคงเป็นหมัน (ไม่มีลูกยุง) ซึ่งยืนยันให้เห็นว่า ยุงตัวผู้กลายพันธุ์สามารถระงับภาวะเจริญพันธุ์ของยุงตัวเมียได้โดยไม่ต้องใช้สเปิร์ม
ทีมวิจัยยังศึกษาต่อว่า ช่วงเวลาที่อยู่ร่วมกันจะมีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของยุงตัวเมียอย่างไร โดยให้ยุงตัวเมียอยู่กับยุงตัวผู้กลายพันธุ์ในระยะเวลาต่างกัน ทีมวิจัยสังเกตเห็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหลังจากผ่านไป 30 นาที แต่หลังจากนั้น ภาวะเจริญพันธุ์ของยุงตัวเมียลดลงอย่างรวดเร็ว
ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ยุงตัวเมียมีเพศสัมพันธ์โดยเฉลี่ยสองครั้งในช่วง 10 นาทีแรกซึ่งบ่งชี้ว่ายุงตัวเมียต้องผสมพันธุ์กับยุงตัวผู้ที่เป็นหมันจำนวนมากก่อนที่ยุงตัวเมียจะกลายเป็นหมัน
ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าการให้ยุงตัวเมียและยุงตัวผู้กลายพันธุ์อยู่ร่วมกันเป็นเวลาสี่ชั่วโมงจะทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ของยุงตัวเมียลดลงเหลือร้อยละ20 ของระดับปกติ และหลังจากแปดชั่วโมง ตัวเลขจะเหลือประมาณร้อยละ10
ครับ จากผลการศึกษาพอสรุปได้ตามความเข้าใจว่า ยุงตัวผู้กลายพันธุ์สามารถระงับภาวะเจริญพันธุ์ของยุงตัวเมียได้โดยไม่ต้องใช้สเปิร์ม โดยภาวะเจริญพันธุ์ของยุงตัวเมียจะลดลง เหลือประมาณร้อยละ 10 หลัง 8 ชั่วโมง ที่อยู่ร่วมกับยุงตัวผู้กลายพันธุ์
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ttps://www.army.mil/article/249572/gene_editing_could_render_mosquitos_infertile_reducing_disease_spread