ยกแรกว่าด้วย “ระเบียบการขับเคลื่อนยีนเพื่อสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี”

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

     การขับเคลื่อนยีน(Gene Drive)เป็นเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับประโยชน์ที่มีแนวโน้มว่า จะสามารถช่วยบรรเทาโรคระบาดในสัตว์และโรคที่เกิดจากพาหะนำโรคได้ แต่ก็เป็นความท้าทายสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกในการดำเนินการให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี แม้ว่ากฎระเบียบที่มีอยู่จะเป็นประโยชน์และสามารถนำมาใช้เพื่อให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีใหม่นี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีโอกาสมากมายที่จะพัฒนากฎระเบียบที่ยั่งยืนสำหรับการขับเคลื่อนยีน

      การสัมมนาผ่านเว็บล่าสุดขององค์การ ISAAA เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ในหัวข้อ “ข้อควรพิจารณาด้านกฎระเบียบและการกำกับดูแลการวิจัยการขับเคลื่อนยีน” ซึ่งเป็นหัวข้อสุดท้ายในการสัมมนาผ่านเว็บในชุดของ Gene Drive Webinar Series ที่จัดโดยศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology Information Centers) และเครือข่ายขยายโอกาสในการทำงานวิจัยการขับเคลื่อนยีน(Outreach Network for Gene Drive Research)

      การสัมมนาผ่านเว็บครั้งนี้มีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ3 คนที่อธิบายกฎระเบียบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีอยู่และหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถช่วยควบคุมการขับเคลื่อนยีนได้อย่างไร รวมทั้งมีส่วนได้เสียและสาธารณชนจะสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการกำกับดูแลได้อย่างไร

       Dr. FleridaCarinoจาก Department of Science and Technology Biosafety Committee แห่งฟิลิปปินส์ นำเสนอการบริหารจัดการการขับเคลื่อนยีนของโลก โดยยกตัวอย่างการบริหารจัดการใน 3 ระดับ คือ ระดับสถาบัน ระดับชาติ และระดับโลก รวมทั้งยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ ที่นำไปใช้โดยองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีกรอบงานที่ดูแลการขับเคลื่อนยีนโดยเฉพาะ และใช้ข้อกำหนดจากกฎระเบียบที่มีอยู่ที่แตกต่างกันในการกำกับดูแล

       ทิ้งคำถามไว้ว่า ควรมีการบริหารจัดการเป็นการเฉพาะเพื่อควบคุมการขับเคลื่อนยีนหรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่กลยุทธ์การกำกับดูแลที่ไม่ซ้ำกันสำหรับเทคโนโลยีใหม่แต่ละอย่างที่เกิดขึ้น และอาจต้องใช้การผลักดันอย่างมากสำหรับบางประเทศในการดำเนินการ

       ด้าน Dr. Andy Sheppard จาก Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization Health and Biosecurity Program ได้พูดถึงแนวทางการทำวิจัยอย่างรับผิดชอบในปัจจุบันและที่กำลังนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ Sheppard ได้อ้างถึงหน่วยงานกำกับดูแลบางแห่งที่ดำเนินการตามกฎระเบียบของตนเองได้สำเร็จ และให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับข้อบังคับในอุดมคติสำหรับการขับเคลื่อนยีนที่ยึดตามระเบียบความปลอดภัยทางชีวภาพที่กำลังบังคับใช้อยู่

       “หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ทำการวิจัยและพัฒนา และองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งได้ลงนามความตกลงในแนวทางดังกล่าว เพื่อการวิจัยที่เปิดกว้างและโปร่งใสซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานกำกับดูแลระดับประเทศ สิ่งที่ต้องตระหนัก คือเทคโนโลยีเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวิจัยโดยยังไม่มีระบบที่พร้อมสำหรับการกำกับดูแลแต่ยังมีเวลาที่จะพัฒนาการกำกับดูแลอย่างยั่งยืน”

        สุดท้าย Ms. Naima Sykes จาก Target Malaria ได้พูดถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียและการปรึกษาหารือสาธารณะในการกำกับดูแลการขับเคลื่อนยีน โดยเน้นว่าทั้งสองส่วนมีความสำคัญมากและเป็นพื้นฐานของการวิจัยการขับเคลื่อนยีนอย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม

        นอกจากนี้การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากการขับเคลื่อนยีนนั้นเกี่ยวข้องกับทั้งชุมชน ดังนั้นการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงมีความสำคัญมาก แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่มีอยู่สามารถใช้เป็นแนวทางในการวิจัยการขับเคลื่อนยีน ในขณะที่การวิจัยอย่างต่อเนื่องจะเติมเต็มช่องว่างของเทคโนโลยีการขับเคลื่อนยีน

      การสัมมนาผ่านเว็บนี้กล่าวเปิดโดย Dr. Rhodora Romero-Aldemitaผู้อำนวยการ ISAAA SEAsiaCenter และกล่าวปิดโดย Dr. MahaletchumyArujananผู้ประสานงานระดับโลกของ ISAAA และผู้ดำเนินรายการ คือDr. Vibha Ahuja หัวหน้าผู้จัดการทั่วไปของ Biotech Consortium India Ltd.

        ติดตามซีรีส์การสัมมนาผ่านเว็บเกี่ยวกับการขับเคลื่อนยีนทั้ง4 ตอน ในช่อง YouTube ของ ISAAA.org และหากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนยีน ให้สมัครรับจดหมายข่าว Outreach Network for Gene Drive Research Newsletter

      ครับ ท่านผู้อ่านคิดอย่างไร ว่าควรมรการกำกับดูแลในเรื่องของการขับเคลื่อนยีนเป็นการเฉพาะหรือไม่?

      อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.isaaa.org/kc/cropbiotechupdate/article/default.asp?ID=18922