ไนจีเรียเดินหน้าพัฒนาข้าวดัดแปลงพันธุกรรมที่ใช้ไนโตรเจนอย่างมีประสิทธิภาพ

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

      นักวิทยาศาสตร์ไนจีเรียและเพื่อนร่วมงานจากประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกา ได้ประชุมกันที่ Abuja เมืองหลวงของไนจีเรีย เพื่อจัดทำเอกสารในการขออนุญาตทำการทดลองประสิทธิภาพระดับชาติ (national performance trial) ของข้าวที่ใช้ไนโตรเจนและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (น้อย)และทนเค็ม(NEWEST rice) เอกสารเมื่อทำเสร็จสมบูรณ์จะถูกส่งไปยัง National Biosafety Management Agency (NBMA) ที่มีหน้าที่กำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมของประเทศ

     Dr. Kayode Sanni ผู้จัดการโครงการข้าวของมูลนิธิเทคโนโลยีการเกษตรแห่งแอฟริกา (African Agricultural Technology Foundation – AATF) กล่าวว่า NEWEST rice ได้ผ่านการทดลองภาคสนามแบบจำกัด (confined field trial)ไปแล้วที่สถาบันวิจัยธัญพืชแห่งชาติ (National Cereal Research Institute – NCRI) ที่เมือง Badeggiในรัฐไนเจอร์ และขณะนี้พร้อมแล้วสำหรับขั้นตอนต่อไป ซึ่งเป็นการทดลองประสิทธิภาพระดับประเทศ

      ความจำเป็นที่ต้องใช้เทคโนโลยีพันธุ์ข้าวดังกล่าว เป็นเพราะข้าวจัดเป็นพืชอาหารหลักอย่างหนึ่งของไนจีเรีย แต่ในปัจจุบันประเทศต้องนำเข้าข้าว เนื่องจากข้าวพันธุ์ที่ใช้ปลูกในปัจจุบันให้ผลผลิตต่ำและไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้

       แม้ว่าจะมีการส่งเสริมการผลิตข้าวในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา จนสามารถการผลิตข้าวแตะระดับสูงสุดที่ 3.7 ล้านตันในปี 2560 แต่ผลผลิตที่ได้อยู่ที่ 2 ตันต่อเฮกตาร์ ซึ่งได้เพียงครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยโดยรวมในเอเชีย นอกจากนี้ จำนวนประชากรยังเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการย้ายถิ่นฐานจากชนบทสู่เมือง ความมั่นคงด้านอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยี

     ในทุกปีธาตุอาหารในดินจะลดลงประมาณว่า ในแอฟริกาทรัพยากรไนโตรเจนลดลงประมาณ 4.4 เมตริกตันต่อปี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเสริม และวิธีหนึ่งในการผลิตพืชอย่างยั่งยืนคือการมีพืชที่สามารถใช้ไนโตรเจนเล็กๆ น้อยๆ ที่มีอยู่ในดินได้ดีที่สุด

      ครับ นั่นเป็นแนวทางหนึ่งที่ไนจีเรียเลือกใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวต่อหน่วยพื้นที่ ในสภาพแวดล้อมที่จำกัดในการเพาะปลูก

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://allianceforscience.cornell.edu/blog/2021/07/nigeria-moves-forward-with-nitrogen-efficient-gmo-rice/