เกษตรกรชาวฟิลิปปินส์ปลูกข้าวโพดบีทีแล้วกว่า 5 ล้านไร่ ได้ผลผลิตเพิ่มถึง 3 เท่าตัว

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

        การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ด้านอาหารและการเกษตรนานาชาติ (International Journal of the Science of Food and Agriculture) เป็นการศึกษาเพื่อประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของการปลูกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมในฟิลิปปินส์ระหว่างปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2562 ซึ่งในช่วงเวลานั้นการเพาะปลูกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 31.24 ในแต่ละปี และในปัจจุบันครอบครัวเกษตรกรประมาณ 460,000 ครอบครัว หรือหนึ่งในสามของผู้ปลูกข้าวโพดทั้งหมดในฟิลิปปินส์ กำลังปลูกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมบนพื้นที่ประมาณ 5.22 ล้านไร่

     เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมที่เพิ่มขึ้นและการใช้สารกำจัดศัตรูพืชลดลง แม้ว่าผลผลิตเฉลี่ยของประเทศที่ไม่ใช้ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมทั่วไปจะอยู่ที่ 480 กก. ต่อไร่ แต่ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมสามารถเพิ่มผลผลิตนี้ได้เป็น 2 หรือ 3 เท่า จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและการเก็บเกี่ยวที่มีคุณภาพดีขึ้นนี้ ฟิลิปปินส์จึงสามารถส่งออกข้าวโพดหมัก (corn silage) ได้ตั้งแต่นำข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้

     ผลการศึกษาระบุว่าอัตราการเติบโตของผลิตภาพ (productivity growth)ของอุตสาหกรรมข้าวโพดของประเทศนั้นสูงขึ้นร้อยละ 11.45 อันเนื่องมาจากการนำข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้ สวัสดิการที่ได้รับทั้งหมด ซึ่งวัดจากการเปลี่ยนแปลงของรายได้(equivalent variation of income) นั้นสูงถึง 189.4 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบหนึ่งในสิบของรายได้ครัวเรือนทั้งหมด

     ข้าวโพดจัดเป็นพืชอันดับ 3 ที่สำคัญที่สุดของฟิลิปปินส์ในแง่ของพื้นที่เก็บเกี่ยวและมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้เกษตรกรฟิลิปปินส์ราว 600,000 ครัวเรือนยังต้องพึ่งพาข้าวโพดเป็นแหล่งทำมาหากินที่สำคัญ ประเทศผลิตข้าวโพดได้ 4.5 ล้านตันในปี 2543 และ 8 ล้านตันในปี 2562จากพื้นที่ของข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวได้ลดลง แต่ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงผลผลิตที่เพิ่มขึ้นของข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม

     ฟิลิปปินส์อนุญาตข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2545 เพื่อช่วยเกษตรกรควบคุมหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด(Asian corn borer) ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชที่ทำลายล้างสูงและทำให้ผลผลิตลดลงเกษตรกรต้องใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูเพื่อต่อสู้กับหนอนดังกล่าว ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และเพิ่มต้นทุนการผลิต ศัตรูพืชดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดสูญเสียรายได้ ได้มากถึงร้อยละ 80

   ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมประกอบด้วยยีน Bt (Bacillus thuringiensis) ที่ทำให้พืชมีความต้านทานตามธรรมชาติต่อศัตรูพืช ได้มีการแนะนำพันธุ์ข้าวโพดอื่น ๆ ที่มีลักษณะทนทานต่อสารกำจัดวัชพืช ซึ่งหมายความว่าเกษตรกรสามารถพ่นสารเพื่อควบคุมวัชพืชในไร่ของตนได้โดยไม่ทำลายต้นข้าวโพดที่ปลูก ตลอดจนลักษณะร่วม (การต้านทานศัตรูพืชและสารกำจัดวัชพืช)

     ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ได้มีการอนุญาตพันธุ์ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม จำนวน 42 กรณี (events) ในฟิลิปปินส์ โดยมี 30 กรณีสำหรับใช้โดยตรงเป็นอาหาร อาหารสัตว์ หรือการแปรรูป และอีก 12 กรณีสำหรับการปลูกในเชิงพาณิชย์

    นักวิจัยประเมินอัตราการเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity – TFP) ของการผลิตข้าวโพดที่ใช้และไม่ใช้ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม จากนั้นจึงประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของการใช้ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมผ่านแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (computable general equilibrium – CGE) ของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ และท้ายที่สุด ผู้เขียนบทความนี้ ได้กล่าวว่า “การยอมรับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้ในการผลิตข้าวโพดในฟิลิปปินส์เป็นเรื่องที่ดีและมีนัยสำคัญ”

    ครับ นับว่าเป็นตัวอย่างที่ที่ ที่ภาครัฐผู้มีอำนาจควรที่จะต้องนำไปศึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยและเศรษฐกิจไทยโดยรวมในอนาคต

    อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://allianceforscience.cornell.edu/blog/2021/07/filipino-farmers-reap-economic-benefits-from-gmo-corn-study-finds/