ผลการศึกษายืนยันการแก้ไขยีนในวัวไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์นอกเป้าหมาย

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

   นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบการกลายพันธุ์นอกเป้าหมาย (off-target mutagenesis) และการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเองเฉพาะในวัวตัวนั้น (de novo mutagenesis) จากการแก้ไขยีนเพื่อให้มีสีขนที่เจือจาง (diluted coat-color)โดยใช้เทคโนโลยี CRISPR-Cas9

    ผลการวิจัยไม่พบการกลายพันธุ์นอกเป้าหมายในระหว่างการหาลำดับจีโนม ซึ่งเป็นหลักฐานให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความผันแปรได้อย่างรวดเร็วในประชากรวัว โดยมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์นอกเป้าหมายน้อยลง

    การกลายพันธุ์นอกเป้าหมายยังคงเป็นปัญหาเมื่อใช้การแก้ไขยีน CRISPR-Cas9 ในสัตว์ด้วยหลายเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและการใช้เทคโนโลยี

     อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ชื่นชอบเครื่องมือนี้เพราะช่วยให้สามารถสร้างความผันแปรให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ไม่มีเขาและสีขนที่เจือจางเพื่อเพิ่มความทนทานต่อความร้อนของวัว

     นักวิทยาศาสตร์จากนิวซีแลนด์ได้ออกแบบการศึกษาเพื่อให้สามารถตรวจสอบรายละเอียดของการกลายพันธุ์นอกเป้าหมายและการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเองเฉพาะในวัวตัวนั้น ที่ได้รับการแก้ไขยีน Premelanosome (PMEL) เพื่อให้มีสีขนที่เจือจาง และไม่พบว่ามีการกลายพันธุ์นอกเป้าหมายเมื่อทำการศึกษาเชิงลึกจากการจัดลำดับจีโนมทั้งหมดของวัวที่ทำการแก้ไขยีนและไม่ได้แก้ไขยีน ความถี่ในการกลายพันธุ์ไม่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขยีน

    จึงสรุปว่า ไม่มีการกลายพันธุ์นอกเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับ CRISPR-Cas9 ที่ตรวจพบได้ในเซลล์ที่ดัดแปลงยีนหรือในลูกวัวที่มาจากเซลล์ที่แก้ไขยีน และการเปรียบเทียบการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเองเฉพาะในลูกวัวตัวที่แก้ไขยีนและลูกวัวที่ไม่ได้แก้ไขยีน ไม่พบว่ามีการกลายพันธุ์ที่สูงขึ้นในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้จากการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเอง

    ครับ เป็นการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ที่ว่า การแก้ไขยีนก่อให้เกิดการกลายพันธุ์นอกเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งพบว่าไม่เกิด

    อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bmcgenomics.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12864-021-07804-x