ถั่วพุ่มบีที พืชดัดแปลงพันธุกรรมชนิดแรกในไนจีเรียเกษตรกรจะปลูกในเดือนกรกฎาคมนี้

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

      ถั่วพุ่มบีที ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวไนจีเรีย เป็นถั่วพุ่มดัดแปลงพันธุกรรม (GM) เพื่อต้านทานแมลงศัตรูที่เข้าทำลายฝัก ทำให้เกษตรกรสามารถลดการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูลงได้อย่างมากและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น นอกจากนี้ ถั่วพุ่มบีทียังเป็นพืชที่คาดว่าจะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและความมั่นคงทางอาหารในขณะเดียวกันยังปรับปรุงวิถีชีวิตของเกษตรกร

      Mohammed Umar ผู้จัดการ โครงการทดลองถั่วพุ่มบีทีที่ต้านทานหนอนเจาะฝัก (pod borer resistant – PBR) ในไนจีเรีย กล่าวว่า ตัวแทนเกษตรกรจาก36 รัฐรวมถึงจากFederal Capital Territory (FCT) จะมีส่วนร่วมในการปลูกถั่วพุ่มบีทีครั้งใหญ่ทั่วประเทศในฤดูการเพาะปลูกปี 2564 ซึ่งจะเริ่มในเดือนกรกฎาคม

     รัฐบาลไนจีเรียอนุญาตให้มีการปลูกถั่วพุ่มบีทีเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2562 แต่ต้องชลอการปลูก เนื่องจากการระบาดของโควิด -19 ซึ่งUmar กล่าวว่า ใช้ช่วงเวลาที่ชลอนั้น นักปรับปรุงพันธุ์พืชได้ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกรเพื่อเตรียมตัวสำหรับการปลูกในฤดูปลูกปี 2564 โดยการทำแปลงสาธิต ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นการทำตามแนวความคิดที่ว่า “การมองเห็นคือความเชื่อ” ซึ่งเกษตรกรจะได้เมล็ดพันธุ์เพื่อทดสอบด้วยตนเองโดยปลูกเปรียบเทียบถั่วพุ่มพันธุ์ปกติกับพันธุ์ SAMPEA 20T (ถั่วพุ่มบีที)

     ในฤดูปลูกปี 2564  เพื่อสร้างความนิยมให้กับเกษตรกรมากขึ้น จึงวางแผนที่จะมีการทำแปลงสาธิตจำนวนมากทั่วทั้ง 36 รัฐรวมถึง FCT, เมือง Abuja และมีบริษัทเมล็ดพันธุ์สามแห่ง ได้แก่ Maina Seeds, Tecni Seeds และ SARO Agrosciences ได้รับมอบหมายและรับรองให้ดูแลการขยายพันธุ์และการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วพุ่มบีทีที่มีคุณภาพ

    Dr. Onyekachi Nwankwo ประธานคณะกรรมการสหวิทยาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวกับถั่วพุ่มบีทีพันธุ์ SAMPEA 20T กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของสิ่งที่ต้องทำคือการทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์มีความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า นั่นคือ มีความจำเป็นที่จะต้องจัดการผลิตภัณฑ์นี้ด้วยวิธีที่จะช่วยเพิ่มความยั่งยืนและให้แน่ใจว่าเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่เป็นเป้าหมาย

     โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากนั้นก็ดำเนินการดูแลเพื่อการค้าผลิตภัณฑ์จนถึงการยุติผลิตภัณฑ์และเนื่องจากนักวิจัยยังคงพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม ดังนั้นหากผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ออกมาดีกว่านี้การดำเนินการนี้ก็จะยุติลงและดำเนินการต่อเพื่อแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันไป

      ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการดูแลนั้นเกษตรกรต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดการภาคสนามและแนวทางปฏิบัติในการเพาะปลูกที่เหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าลักษณะที่ต้านทานยังคงมีประสิทธิภาพ การเตรียมเกษตรกรตลาดและประชาชนชาวไนจีเรียให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูกใหม่นี้เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

     Emmanuel Ikani  ผู้อำนวยการบริหารของ NAERLS สมาชิกคณะกรรมการ ย้ำว่าประชาชนต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหากประเทศต้องการทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยพืชอาหารดัดแปลงพันธุกรรมพืชแรก และการที่มนุษย์จะยอมรับเทคโนโลยีใหม่ได้นั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ

     Ikani กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมาหน่วยงานได้ใช้ช่องทางเสมือนจริง เพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของประเทศในการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับถั่วพุ่มบีที เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็จะเผยแพร่ต่อให้กับเกษตรกรนอกจากนี้ NAERLS ยังได้จัดทำสิ่งพิมพ์เพื่อการอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมและคู่มือสำหรับเกษตรกรตลอดจนเอกสารข้อเท็จจริงและใบปลิว รวมถึงการทำของที่ระลึก เช่น เสื้อยืด เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ให้กับเกษตรกร และการเตรียมความพร้อมด้านตลาด เพื่อรองรับผลผลิตจากถั่วพุ่มบีที และให้ข้อสังเกตว่าผลิตภัณฑ์ที่ดีเด่นเท่านั้น ที่จะขายได้

    ครับ จะเห็นได้ว่า การที่จะส่งเสริมพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชชนิดใดก็ตาม จะต้องให้ความรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกร โดยการฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดการภาคสนามและแนวทางปฏิบัติในการเพาะปลูกที่เหมาะสม รวมทั้งการมอบเมล็ดพันธุ์เพื่อทดสอบด้วยตนเอง และยังมีประเด็นเรื่องทำอย่างไรจึงทำให้ประชาชนยอมรับเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านตลาดด้วย

    แปลและเรียบเรียงจาก https://allianceforscience.cornell.edu/blog/2021/04/over-2000-nigerian-farmers-ready-to-grow-gm-cowpea-this-year/