โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
Amandaมีอาชีพเป็นทนายความและมีความหลงใหลในการเพาะปลูกพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐมิชิแกนสหรัฐอเมริกา
เธอ กล่าวว่า เธอได้ใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมนับตั้งแต่มีการเปิดตัวเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนทานสารกำจัดวัชพืชและผลิตโปรตีนบีที(Bt) พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนทานสารกำจัดวัชพืชจะช่วยให้สามารถใช้สารกำจัดวัชพืชที่ไม่ทำอันตรายพืชที่ปลูก
ส่วนโปรตีน Bt จะช่วยปกป้องข้าวโพดจากการเข้าทำลายของหนอนเจาะลำต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่พืชดัดแปลงพันธุกรรมกลับได้รับการโจมตีโดยนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านและยังเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด คำกล่าวอ้างที่ไร้สาระที่สุด คือการกล่าวว่าเกษตรกรไม่ต้องการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมแต่ถูกบังคับให้ปลูกในความเป็นจริง เกษตรกรปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมโดยสมัครใจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่
- การใช้สารกำจัดวัชพืชน้อยลง
วัชพืชเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากการมีอยู่ของวัชพืชอาจทำให้ผลผลิตของพืชปลูกลดลง ก่อนที่จะมีพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนทานสารกำจัดวัชพืชทางเลือกเดียวสำหรับการควบคุมวัชพืชคือพยายามกำจัดก่อนที่จะปลูกพืช และเมื่อพืชเริ่มเติบโตทางเลือกในการควบคุมวัชพืชก็มีค่อนข้างจำกัด บางครั้งเกษตรกรต้องใช้สารเคมีที่รุนแรงขึ้นเพื่อจัดการกับวัชพืชที่กำลังเติบโต พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนทานสารกำจัดวัชพืชทำให้การควบคุมวัชพืชทำได้ง่ายขึ้นมากด้วยสารกำจัดวัชพืชที่ปลอดภัยกว่า นอกจากนี้ยังใช้สารกำจัดวัชพืชน้อยลงเนื่องจากการใช้เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอ
- ไม่ต้องใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู
ด้วยพืชดัดแปลงพันธุกรรมมีความต้านทานต่อแมลงศัตรู จึงไม่ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูกับข้าวโพดอีกต่อไป กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนมีพืชดัดแปลงพันธุกรรมสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูเป็นเครื่องมือป้องกันพืชที่สำคัญมาก แต่ตอนนี้โปรตีนBtจะช่วยปกป้องข้าวโพดจากแมลงศัตรูที่มีความเฉพาะเจาะจงโดยไม่รบกวนแมลงที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ ดังนั้นไม่เพียงแต่เลิกใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูแล้วยังสามารถป้องกันแมลงที่มีประโยชน์ได้อีกด้วย
- สามารถทำการไถพรวนเพื่อการอนุรักษ์ได้ง่ายขึ้น
การไถพรวนเพื่อการอนุรักษ์ช่วยให้เกษตรกรสามารถทิ้งเศษเหลือจากพืชของปีที่แล้วไว้ในแปลงได้โดยไม่ต้องไถพรวนหรือรบกวนดินก่อนปลูกในปีถัดไป นี่เป็นการปฎิบัติที่สำคัญมากสำหรับเกษตรกรเพราะสามารถเพิ่มสุขภาพของดินได้อย่างมาก และสุขภาพของดินเป็นกุญแจสำคัญในการใช้ปัจจัยการผลิตในแปลงเพาะปลูกน้อยลงและได้รับผลผลิตที่สูงขึ้น พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนทานสารกำจัดวัชพืชทำให้ง่ายต่อการนำแนวทางการไถพรวนเพื่อการอนุรักษ์มาใช้เพราะควบคุมวัชพืชได้ง่ายกว่า ทำให้ไม่ต้องเตรียมพื้นที่เพื่อควบคุมวัชพืชและการปลูก
- การปล่อยคาร์บอนน้อยลง
รถแทรกเตอร์ต้องเผาเชื้อเพลิงเมื่อใช้ในแปลงเพาะปลูก นั่นหมายความว่าทุกครั้งที่ต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชหรือสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู ก็จะต้องใช้รถแทรกเตอร์ช่วยในการพ่นสาร ซึ่งจะต้องเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และนั่นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมทำให้สามารถลดจำนวนครั้งในการใช้แทรกเตอร์ ผลที่ได้คือการลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งในความเป็นจริงงานวิจัยล่าสุดพบว่าหากไม่มีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในปี 2561จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน23 พันล้านกิโลกรัมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ นั่นเท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนรถยนต์อีก 15.3 ล้านคันบนท้องถนน!
Amanda กล่าวทิ้งท้ายว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมได้ให้ประโยชน์มากมายต่อสิ่งแวดล้อม และแน่นอน เรายินดีที่จะใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมในการเพาะปลูก
ครับ ประโยชน์ที่กล่าวถึงนี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะนานเท่าไร
อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://www.thefarmersdaughterusa.com/farmers-grow-gmos-for-these-environmental-reasons/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=farmers-grow-gmos-for-these-environmental-reasons