โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นักวิทยาศาสตร์จาก Martin Luther University Halle-Wittenberg (MLU) และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ Paraná ในบราซิลได้ค้นพบว่า โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา สามารถควบคุมได้ด้วยสารเคมีที่มีจำหน่ายทั่วไปและถูกใช้ในทางการแพทย์เป็นหลักจนถึงปัจจุบัน
ในการทดลองทีมงานได้ค้นพบวิถีการเผาผลาญแบบใหม่ หรือกระบวนการสร้างและสลาย (new metabolic pathway) ที่อาจถูกทำลายโดยกรดอะซิโตไฮดรอกซามิก (acetohydroxamic acid) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการรักษาแบคทีเรียที่เป็นอันตรายในกระเพาะอาหารของมนุษย์ ซึ่งยังช่วยยับยั้งการสลายตัวของยูเรีย
Colletotrichum graminicola เป็นเชื้อราโรคพืชที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยจะทำให้เกิดโรคแอนแทรคโนสในข้าวโพด ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ใบของพืชเปลี่ยนเป็นสีเหลืองในตอนแรก จากนั้นก็ถูกทำลายด้วยสารพิษในที่สุด
ทีมงานของ ศาสตราจารย์ Holger Deising นักพยาธิวิทยาพืช พบวิธีที่จะขัดขวางระยะการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นจากเชื้อรา โดยทีมงานได้พ่นกรด acetohydroxamic ลงบนต้นพืช ซึ่ง Deising กล่าวว่า กรดนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อราที่เป็นอันตรายแทรกซึมเข้าไปในพืชและไม่ทำให้ติดเชื้อ
ทีมวิจัยยังทดสอบว่า ผลการวิจัยจาก C. graminicola และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถนำไปใช้กับพืชและเชื้อราอื่น ๆ ได้หรือไม่ และพบว่า กรดนี้มีประสิทธิภาพเมื่อใช้กับเชื้อราอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชอีกมากมาย เช่น โรคราแป้งในธัญญพืช โรคใบไหม้ในมันฝรั่ง รวมทั้งโรคราสนิมข้าวโพดและถั่ว
ครับ บางครั้งสิ่งที่ใช้ได้กับอีกสาขาหนึ่ง ก็สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกับพืช
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://pressemitteilungen.pr.uni-halle.de/index.php?modus=pmanzeige&pm_id=5103