โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
การศึกษาชิ้นใหม่แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวนอร์เวย์เต็มใจที่จะยอมรับการใช้วิธีแก้ไขยีนในการเกษตร หากวิธีการดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ทางสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ผลการวิจัยยังบ่งชี้ว่า ความคิดเห็นของผู้บริโภคชาวยุโรปเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรมนั้นมีความลื่นไหลมากกว่าที่เคยรับรู้โดยทั่วไป
ในการสำรวจผู้บริโภคที่ดำเนินการโดย GENEinnovate ซึ่งเป็นความร่วมมือของ บริษัทเอกชนนอร์เวย์ สถาบันวิจัยและคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีชีวภาพนอร์เวย์ (Norwegian Biotechnology Advisory Board) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กล่าวว่าพวกเขาเห็นด้วยกับการใช้เทคนิคการแก้ไขยีนเช่น CRISPR เพื่อพัฒนาความยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
Sigrid Bratlie สมาชิกของโครงการวิจัย GENEinnovate และที่ปรึกษาพิเศษด้านเทคโนโลยียีน ของสหกรณ์การเกษตรนอร์เวย์(Norwegian Agricultural Cooperatives) กล่าวว่า ทัศนคติเชิงบวกที่มีต่อการแก้ไขยีนโดยทั่วไปสะท้อนให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นของสาธารณะในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ และ กล่าวต่อว่า
“ความประทับใจของฉันคือในการอภิปรายสาธารณะผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มีความแตกต่างกันอย่างไร ในกรณีของการแก้ไขยีนจะมีประโยชน์หรือข้อเสียที่แตกต่างแทนที่จะมีทัศนคติที่สนับสนุนหรือต่อต้าน”
รายงานชิ้นใหม่แสดงให้เห็นว่า ชาวนอร์เวย์เปิดรับการใช้งานการแก้ไขยีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญต่อภาคเกษตรกรรมของนอร์เวย์ ตัวอย่างเช่นผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 70 เต็มไปด้วยความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับการใช้การแก้ไขยีน เพื่อสร้างมันฝรั่งที่ต้านทานโรคใบไหม้
Bratlie กล่าวว่า ชาวนอร์เวย์โดยทั่วไปให้การสนับสนุนเกษตรกรและการเกษตรเป็นอย่างมาก และ มันฝรั่งเป็นพืชหลักในนอร์เวย์และมีตำนานอันยาวนานในการเกษตรนอร์เวย์ ในนอร์เวย์โรคใบไหม้เป็นปัญหาใหญ่ เกษตรกรใช้เวลาและเงินจำนวนมากในการพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา
Bratlie กล่าวต่ออีกว่า เกษตรกรชาวนอร์เวย์ใช้เงินประมาณ 7 ล้านยูโรต่อปีสำหรับสารกำจัดศัตรูพืช การใช้การแก้ไขยีนเพื่อลดการใช้สารเคมีอันตรายยังดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมด้วย การสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ร้อยละ 58 เห็นด้วยกับการใช้การแก้ไขยีนเพื่อกำจัดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในการผลิตอาหารอินทรีย์ ในนอร์เวย์อาหารอินทรีย์คิดเป็นประมาณร้อยละ 2 ของยอดขายอาหารทั้งหมด แต่มีแรงผลักดันทางการเมืองที่จะขยายส่วนแบ่งการตลาดของเกษตรอินทรีย์
ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณร้อยละ 60 ยังสนับสนุนการใช้การแก้ไขยีนเพื่อพัฒนาสุขภาพสัตว์เช่น การปรับปรุงพันธุ์หมูให้ทนต่อโรคติดเชื้อและการสร้างปลาแซลมอนที่ทนต่อเหาทะเล ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งยังสนับสนุนการใช้การแก้ไขยีนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในนอร์เวย์ เมื่อปีที่ผ่านมากลุ่มประเทศนอร์ดิก(Nordic nation)ส่งออกอาหารทะเล 2.7 ล้านตันคิดเป็นมูลค่า 107.3 พันล้านโครน (ประมาณ 10.5 พันล้านดอลลาร์)
Bratlie ระบุด้วยว่า นอร์เวย์มีอุตสาหกรรมชีวภาพที่สำคัญสำหรับปศุสัตว์และพันธุศาสตร์ปลา” และ “ เทคโนโลยีชีวภาพเหล่านี้ยังสามารถปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจำนวนมากใส่ใจและสามารถลดความจำเป็นในการใช้ยาและการรักษาอื่น ๆ เช่นการกำจัดสารเคมีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม
ชาวนอร์เวย์มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการใช้การแก้ไขยีน เพื่อช่วยให้พืชปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นการพัฒนาพันธุ์ข้าวสาลีที่สามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ดีขึ้น ในความเป็นจริงเกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าจริง ๆ แล้วมันผิดจรรยาบรรณที่จะไม่ใช้การแก้ไขยีนเพื่อจัดการกับความท้าทายทางสังคมเช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเทียบกับเพียงร้อยละ 22 ที่ไม่เห็นด้วย
นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องจริยธรรมในการใช้การแก้ไขยีนและสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศเพื่อนบ้านในแถบสแกนดิเนเวียของนอร์เวย์ซึ่งสภาจริยธรรมเดนมาร์ก(Danish Ethics Council)ได้ออกรายงานเมื่อปีที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าเมื่อเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงและประชากรโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มันจะผิดจรรยาบรรณถ้าไม่ใช้เทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง
ในรายงานของนอร์เวย์ไม่ได้ระบุว่าผู้บริโภคพร้อมที่จะให้การรับรองการแก้ไขยีนแบบเต็มตัว ยกตัวอย่างเช่นชาวนอร์เวย์ที่สำรวจไม่ค่อยชอบนักเมื่อใช้การปก้ไขยีนเพื่อสร้างสิ่งที่การศึกษาที่เรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย” กับพืชและปศุสัตว์เช่นการเปลี่ยนรูปลักษณ์ของผักและผลไม้หรือสีของเนื้อปลาแซลมอน นอกจากนี้ประมาณร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาค่อนข้างกังวลหรือกังวลมากว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการแก้ไขยีนสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพแก่ผู้บริโภคและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจ คือ ชาวนอร์เวย์ส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขยีนก่อนที่จะมีส่วนร่วมในการสำรวจมีส่วนน้อยที่จะกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพและมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับการใช้เทคโนโลยี ในรายงานไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างระดับความรู้ของผู้ตอบแบบสอบถามและความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
Bratlie กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าหลายคนไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับการแก้ไขยีน แต่ส่วนใหญ่ยังคงเห็นด้วยกับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ตราบเท่าที่มีจุดประสงค์ที่เป็นประโยชน์ชัดเจน” และ “อย่างไรก็ตามมีความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติและความรู้ ผู้ที่มีความรู้มากที่สุดมีความเห็นด้วยมากที่สุดและยังมีความไว้วางใจสูงสุดในผู้พัฒนาและเจ้าหน้าที่ที่อนุญาตผลิตภัณฑ์ที่ดัดแปลงพันธุกรรม สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความรู้และฉันคิดว่าความรู้ทำให้พันธุวิศวกรรมฟังดูแปลกและน่ากลัวน้อยลง
ครับ เป็นที่น่ายินดี ที่ทัศนคติในเรื่องของการแก้ไขยีนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การให้ความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะ มีส่วนทำให้ความกังวลที่มีต่อผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมลดน้อยลง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bioteknologiradet.no/filarkiv/2020/04/Report-consumer-attitudes-to-gene-editing-agri-and-aqua-FINAL.pdf