โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยวสุภาษิต
นักวิจัยจากหน่วยงานวิจัยเกษตรของกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA ARS) และเพื่อนร่วมงานจากมหาวิทยาลัยเกษตรมณฑลซานตง (Shandong Agricultural University) ในประเทศจีน ได้ค้นพบยีน ที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวสาลีให้มีความต้านทานต่อโรค Fusarium Head Blight (FHB) ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อข้าวสาลีทั่วโลก FHB ทำให้เมล็ดฝ่อ (เน่า) และไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวสาลีได้
ที่แย่กว่านั้นยังมีสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากเชื้อรา Fusarium graminearum ซึ่งยังเป็นปัญหาในแหล่งผลิตอาหารของยุโรป อเมริกาเหนือและจีน ที่ยังเก็บรักษาเมล็ดไว้สำหรับใช้เป็นอาหาร
นักวิจัยได้ลงพิมพ์การค้นพบและการโคลนยีนหรือการเพิ่มจำนวนยีนที่เรียกว่า Fhb7 ในวารสาร Science ยีน Fhb7 ถูกพบในต้นอ่อนข้าวสาลี (wheatgrass) ในสกุล Thinopyrum ซึ่งเป็นข้าวสาลีพันธุ์ป่า ที่เคยถูกนำมาใช้ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวสาลีให้มีลักษณะที่เป็นประโยชน์ เช่น ต้านทานต่อโรคราสนิม (rust) และทนทานต่อความแห้งแล้ง
ทีมวิจัยพบว่า ยีนนั้นสามารถลดการเกิดโรค FHB ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะทำลายสารพิษที่เรียกว่า mycotoxins ที่หลั่งจากเชื้อโรค นอกจากนี้ยังให้ความต้านทานต่อโรค crown rot ของข้าวสาลีอีกด้วย
พวกเขาโคลนยีน และถ่ายฝากให้กับข้าวสาลี 7 พันธุ์ ที่มีพื้นฐานทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน เพื่อศึกษาผลกระทบที่มีต่อข้าวสาลีที่ปลูกภายใต้สภาพแปลงเพาะปลูก ผลการวิจัยพบว่า ยีนไม่เพียงแต่จะให้การต้านทานต่อโรค FHB แต่ยังไม่มีผลกระทบทางลบต่อผลผลิตหรือลักษณะสำคัญอื่น ๆ
ครับ เป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะมีพันธุ์ข้าวสาลีที่ต้านทานต่อโรค FHB ที่เป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sciencemag.org/news/2020/04/how-gene-grass-living-fungus-could-save-wheat-crops-worldwide#