โมซัมบิกจ่อที่จะใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

      ตอนนี้ประเทศโมซัมบิก กำลังพิจารณาที่จะใช้พืชเทคโนชีวภาพ หรือพืชดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารหลังจากประสบความสำเร็จในการทดลองภาคสนามข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม

      ตั้งแต่ปี 2560 ที่โมซัมบิกได้ทำการทดลองภาคสนามข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม ภายใต้โครงการ Water Efficient Maize for Africa (WEMA) ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ข้าวโพดTELA” เป็นข้าวโพดบีทีที่ดัดแปลงพันธุกรรมให้ต้านทานต่อแมลงศัตรู (หนอนเจาะลำต้น และ หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด) และทนทานต่อความแห้งแล้ง

       แม้ว่าข้าวโพด TELA ยังไม่ได้ปลูกเชิงการค้า แต่โมซัมบิกก็กำลังพิจารณาที่จะแนะนำพืชดัดแปลงพันธุกรรมชนิดอื่น ๆ อีก

      นอกจากนี้โมซัมบิกกำลังพิจารณาใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เช่นการวินิจฉัยโรคนิวคาสเซิลในสัตว์ และไวรัสมะเขือเทศในมันสำปะหลัง และพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่นมันเทศสีส้ม

      โมซัมบิกกำลังพิจารณาเช่นกันในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงพันธุกรรมสัตว์ การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้และการศึกษาสัตว์ปีก

      พันธุ์พืชที่ได้จากโครงการ WEMA ในโมซัมบิก ได้รับการพัฒนาผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ระหว่างศูนย์ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดและข้าวสาลีนานาชาติ (CIMMYT) กับสถาบันวิจัยของรัฐบาลในเจ็ดประเทศในแอฟริกา ได้แก่ โมซัมบิก เคนยา แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย  ยูกันดา เอธิโอเปีย และไนจีเรีย ซึ่งโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารในเขตพื้นที่ sub-Saharan Africa โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดที่ทนแล้ง และทนต่อศัตรูพืชโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพและการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม

         รัฐบาลของประเทศโมซัมบิก ยอมรับว่าเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ สามารถตอบสนองความต้องการที่สำคัญสำหรับความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ และ มุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางการเกษตรเพื่อลดความหิวโหยและความยากจนด้วยการเพิ่มการผลิตทางการเกษตร รัฐบาลเข้าใจดีว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อประเทศได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางการเกษตรที่รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพ

         ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ตระหนักดีว่า การพัฒนาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพที่ทันสมัย จำเป็นต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในขณะที่ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งโมซัมบิกได้มีกฎระเบียบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพมาตั้งแต่ปี 2550

       ปัจจุบันโมซัมบิก อนุญาตให้นำเข้าพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้โดยตรงเป็นอาหารอาหารสัตว์ หรือแปรรูปโดยได้รับการอนุมัติจาก National Biosafety Authority ผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดที่นำเข้าจากแอฟริกาใต้มีส่วนผสมที่ดัดแปลงพันธุกรรม

        การลดความยากจนและสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ผ่านการทำการเกษตรที่ได้รับการพัฒนา เป็นความคิดริเริ่มที่สำคัญในประเทศโมซัมบิกซึ่งร้อยละ 80 ของประชากรหรือประมาณ 29 ล้านคนมีส่วนร่วมในการทำการเกษตร   และร้อยละ 64 ของประชากรอยู่ในสภาวะขาดอาหาร นอกจากนี้โมซัมบิกยังประสบกับภัยธรรมชาติที่พบบ่อยรวมถึงภัยแล้งและน้ำท่วม

        โดยที่โมซัมบิกคาดหวังว่า การอนุญาตให้ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม ตามที่วางแผนไว้จะช่วยให้ประเทศสามารถจัดการกับความท้าทายของศัตรูพืช และเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร ตัวอย่างเช่นข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึงร้อยละ 50

        อย่างไรก็ดียังมีความกังวลว่าประชาชน ที่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ จึงต้องมีโครงการเผยแพร่และการสร้างขีดความสามารถในหมู่ภาคประชาสังคม

          ครับ หลายประเทศในทวีปแอฟริกาได้ปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร แต่ประเทศไทยยังไม่มีการปรับตัว ใช้เทคโนโลยีเดิมๆ ท่านคิดว่าถึงเวลาสำหรับประเทศไทยหรือยัง?

       อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://geneticliteracyproject.org/2020/03/11/mozambique-sees-gmo-crops-as-way-to-reduce-poverty-achieve-food-security/?mc_cid=aed9429f9f&mc_eid=43212d8a02