การสูญเสียโอกาสโดยการเรียนรู้จากพันธุวิศวกรรม

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

         วันนี้ขอต่อบทความของ Rebecca Mackelprang เป็นวันที่ 3 ที่ได้พูดถึงในเรื่อง “การสูญเสียโอกาสโดยการเรียนรู้จากพันธุวิศวกรรม” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

       ลักษณะทางพันธุกรรมที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่ทนทานต่อสารกำจัดวัชพืช หรือต้านทานแมลงศัตรูในข้าวโพด ถั่วเหลืองหรือฝ้าย และยังมีพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีลักษณะอื่น ๆ อีกมากมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่มีปลูกไม่มากนัก เนื่องจากมีกฎระเบียบที่เคร่งคัด หากบรรยากาศด้านกฎระเบียบและการรับรู้ของสาธารณชนเอื้ออำนวย พันธุ์พืชที่มีลักษณะที่มีคุณค่าเช่นนี้ สามารถผลิตได้โดย CRISPR และจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในแปลงปลูกและบนโต๊ะอาหารของเรา

        ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัด ๆ เช่น อาจารย์ที่ปรึกษาของฉันที่ UC Berkeley (มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลี) กับเพื่อนร่วมงาน ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวสาลีที่มีโอกาสแพ้น้อย (hypoallergenic) เมล็ดข้าวสาลีพันธุ์นี้ถูกเก็บไว้ในชั้นใต้ดินของอาคารของเรา ซึ่งมิได้ถูกแตะต้องมานานหลายปี มะเขือเทศที่ใช้ยีนพริกหวาน เพื่อป้องกันโรคแบคทีเรีย ทำให้ไม่ต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช แครอท มันสำปะหลัง ผักกาดหอม มันฝรั่งและอื่น ๆ ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ พันธุ์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และความเชี่ยวชาญของนักวิจัยในการสร้างลักษณะใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต แต่ทำไมฉันจึงไม่สามารถซื้อขนมปังที่ทำจากข้าวสาลีที่มีโอกาสแพ้น้อยได้ที่ร้านขายของชำ?

       การวิจัยและพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมจนได้พันธุ์พืชที่มีลักษณะที่ต้องการ จะมีต้นทุนประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ลงทุนโดยบริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ และต้องใช้ทุนอีกประมาณ 35 ล้านดอลลาร์ เพื่อผ่านกระบวนการด้านกฎระเบียบที่กำหนดโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา, EPA (องค์การด้านสิ่งแวดล้อม) และ/หรือองค์การอาหารและยา (ขึ้นอยู่กับลักษณะที่ถูกดัดแปลง) ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 5 – 7 ปี

       กฎระเบียบมีความสำคัญและพืชดัดแปลงพันธุกรรมควรได้รับการประเมินอย่างรอบคอบ แต่ค่าใช้จ่ายทำได้เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนจำนวนมากเท่านั้น และเพื่อชดเชยการลงทุนมูลค่า 135 ล้านดอลลาร์ บริษัทต้องพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ตอบสนองต่อตลาดที่ใหญ่ที่สุดของผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์ นั่นคือ ผู้ปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง ผักกาดฝรั่ง (sugar beet) และฝ้าย

       ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนานั้นต่ำกว่ามากเมื่อใช้ CRISPR เนื่องจากความแม่นยำและความสามารถในการคาดการณ์ และข้อบ่งชี้ในช่วงต้นชี้ให้เห็นว่าการใช้ CRISPR สำหรับการกลายพันธุ์ (CRISPR for mutation) จะไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับและค่าใช้จ่ายเดียวกันในสหรัฐอเมริกา

        จากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกากล่าวว่า“ ภายใต้ข้อบังคับที่มีต่อเทคโนโลยีชีวภาพ กระทรวงเกษตรสหรัฐจะไม่กำกับดูแลพืชที่พัฒนาได้ด้วยเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม” ถ้าพืชดังกล่าวได้รับการพัฒนาด้วยวิธีการทางห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองแล้ว

         หาก EPA (องค์การด้านสิ่งแวดล้อม) และ FDA (องค์การด้านอาหาร) ปฏิบัติตามเหมาะสมกับกฎระเบียบที่มีค่าใช้จ่ายไม่แพงนัก การใช้ CRISPR อาจลดค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ รวมทั้งนักวิชาการ บริษัทขนาดเล็ก และนักวิจัยขององค์กรพัฒนาเอกชนอาจได้ประโยชน์จาก พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ได้จากการแก้ไขจีโนม (CRISPR) ซึ่งทำให้ไม่ต้องเก็บผลงานวิจัยดังกล่าวเข้าลิ้นชัก

        ครับ โอกาสที่สูญเสียไปจากกรณีพืชดัดแปลงพันธุกรรม คือ การไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางการค้าจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม ในลักษณะที่มีคุณค่าอื่น ๆ นอกเหนือจาก ลักษณะต้านทานแมลงศัตรูและทนทานสารกำจัดวัชพืช เนื่องจากกฎระเบียบที่เข้มงวด และ ความต้องการของตลาด นอกจากนี้ต้องใช้ทุนจำนวนมากในการพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ การจำแนก CRISPR เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการปรับปรุงพันธุ์แบบปกติ โดยไม่มีกฎระเบียบที่เข้มงวด รวมทั้งมีต้นทุนในการพัฒนาต่ำ จะเปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์จาก CRISPR อย่างกว้างขวาง ครับ พรุ่งนี้คงเป็นตอนสุดท้าย ที่จะกล่าวถึง CRISPR กับความยั่งยืน