โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
ไนจีเรีย หนึ่งในประเทศยอดนิยมในทวีปแอฟริกา ได้นำประเทศเข้าสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพด้านพืช ด้วยการอนุญาตและขึ้นทะเบียนฝ้ายบีทีจำนวน 2 พันธุ์ คือ MRC 7377 BGII และ MRC 7361 BGII โดยหน่วยงานที่มีชื่อว่า คณะทำงานกำหนดชื่อ ขึ้นทะเบียน และปลดปล่อยพันธุ์พืชแห่งชาติ (National Committee on Naming, Registration and Release of Crop Materials)
นั่นก็หมายความว่า เกษตรกรสามารถใช้เมล็ดพันธุ์ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมในการเพาะปลูก นอกเหนือจากพันธุ์ฝ้ายปกติ
ไนจีเรียจึงเป็นประเทศที่ 7 ของประเทศในทวีปแอฟริกาที่อนุญาตให้ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม ต่อจากประเทศแอฟริกาใต้ ซูดาน สวาซิแลนด์ เคนยา มาลาวี และเอธิโอเปีย
จากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีทั้งหมด 14 ประเทศทั่วโลกที่ปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมบนพื้นที่ทั้งหมด 150.62 ล้านไร่ หรือมีอัตราการยอมรับประมาณร้อยละ 80 โดยอินเดีย เป็นประเทศที่ปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมสูงสุดประมาณ 71.25 ล้านไร่
ประธานคณะกรรมการ มีความมั่นใจว่า การอนุญาตและขึ้นทะเบียนพันธุ์ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมในครั้งนี้ จะเป็นการปฎิวัติการพัฒนาการเกษตรของประเทศที่นำไปสู่การยอมรับเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม
ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมทั้ง 2 พันธุ์พัฒนาโดยบริษัท Mahyco Nigeria Private Ltd ด้วยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยการเกษตร (Institute for Agricultural Research – IAR) ที่ Ahmadu Bello University ใน Zaria
Dr. Rufus Ebegba ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งชาติ (National Biosafety Management Agency – NBMA) กล่าวว่า หน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพของแอฟริกาต้องการความกล้าหาญและความรู้ในการทำหน้าที่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แม้จะมีภัยคุกคามจากผู้ที่ปฏิเสธ โดยมีความเชื่อในประสิทธิภาพของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ปลอดภัย
ศาสตราจารย์ Alex Akpa ผู้อำนวยการขององค์กรพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (National Biotechnology Development Agency – NABDA) ให้ข้อสังเกตว่า พันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนจะมีประสิทธิภาพสูงเมื่อเทียบกับพันธุ์ปกติ โดยสามารถให้ผลผลิต 656 – 704 กิโลกรัมต่อไร่
[adrotate banner=”3″]
ขณะที่พันธุ์ปกติให้ผลผลิตเพียง 96 – 144 กิโลกรัมต่อไร่ และจากการพัฒนานี้ ประเทศไนจีเรียได้แสดงให้เห็นแล้วว่า มีความสามารถในระดับสถาบันและทรัพยากรบุคคลที่จะใช้ประโยชน์จากพันธุวิศวกรรมทางการเกษตรได้อย่างปลอดภัย
ตามที่ Dr. Rose Gidado ผู้ประสานงานของประเทศในเรื่องของการเปิดเวทีเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรในแอฟริกา (Open Forum on Agricultural Biotechnology in Africa – OFAB) ได้กล่าวว่า การลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ เป็นการเปิดฉากหน้าใหม่ของประเทศไนจีเรีย
เนื่องจากการผลิตฝ้ายของประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การผลิตฝ้ายได้หวนกลับคืนมาเหมือนเดิมและ “ด้วยพันธุ์ใหม่นี้เกษตรกรจะสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและทำกำไรได้มากกว่าร้อยละ 50 และอุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศจะได้รับการปรับปรุงใหม่”
พืชดัดแปลงพันธุกรรมอื่น ๆ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยในประเทศไนจีเรีย ได้แก่ ถั่วพุ่มบีทีที่ต้านทานต่อแมลงเจาะฝักถั่ว ข้าวฟ่างบีที/ทนสารกำจัดวัชพืชข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อชะลอการเสื่อมสภาพของแป้งหลังการเก็บเกี่ยว และข้าวโพดที่ใช้ไนโตรเจนและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และข้าวที่ทนต่อดินเค็ม
ครับ เมื่อผู้นำประเทศหรือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่มีความกล้าพอ ประเทศก็จะมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาการเกษตร
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.isaaa.org/kc/cropbiotechupdate/article/default.asp?ID=16671