ค้นพบยีนใหม่ ๆ ในข้าว นักปรับปรุงพันธุ์ใช้ได้เลย

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์  เอี่ยมสุภาษิต

          การศึกษาล่าสุดเปิดโอกาสที่เป็นไปได้ที่จะเร่งการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ประสบปัญหาในการผลิต

          เป็นการศึกษาที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute – IRRI) สถาบันวิทยาศาสตร์ด้านพืช ของ Chinese Academy of Agricultural Sciences (CAAS), BGI-Shenzhen, และสถาบันอื่น ๆ อีก 13 แห่ง

          งานวิจัยนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์และนักปรับปรุงพันธุ์ สามารถค้นพบยีนใหม่ ๆ และจำแนกยีนเหล่านั้นที่ควบคุมลักษณะที่สำคัญ เช่นต้านทานโรค และต้านทานน้ำท่วม แล้ง และน้ำเค็ม นอกจากนี้นักปรับปรุงพันธุ์ด้านโมเลกุล สามารถใช้เครื่องหมายทางพันธุกรรมในการคัดเลือกต้นข้าวที่มีลักษณะที่ต้องการ ก่อนที่จะปลูกในแปลง

           ผลการศึกษาพบว่า จาก 3,000 จีโนมของข้าว มีความผันแปรของยีนและการเรียงลำดับอย่างมีนัยสำคัญ นักวิจัยสามารถจำแนกยีนใหม่ ๆ ได้มากกว่า 10,000 ยีน นอกจากนี้ ในพันธุ์ข้าว 2 กลุ่มที่สำคัญ พบว่ามีประชากรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน หลักฐานอื่น ๆ ยังเปิดเผยว่า ข้าวอาเซียนได้มีการเพาะปลูกมาเป็นเวลานานหลายพันปี

[adrotate banner=”3″]

          Dr. Jacqueline Hughes ผู้ช่วยผู้อำนวยการงานวิจัยของ IRRI กล่าวว่า “ผลงานวิจัยนี้จะนำไปสู่การพัฒนาพันธุ์ข้าวได้เร็วขึ้นและแม่นยำมากขึ้น ที่เหมาะต่อสภาพพื้นที่ปลูกที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรยากจนอาศัยอยู่”

            Dr. Kenneth McNally นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของ IRRI กล่าวว่า นี่เป็นชุดที่ใหญ่ที่สุดของการค้นพบจีโนมที่มีความผันแปร และนักปรับปรุงพันธุ์ทั่วโลกสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และพร้อมที่จะใช้เป็นสื่อสำหรับการฝึกอบรมนักชีววิทยาด้านพืชรุ่นใหม่

      ครับ ประเทศไทยคงมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์บ้างครับ!

       อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://irri.org/news/media-releases/unlocking-rice-gene-diversity-for-food-security