ประเทศไทยทำการเกษตรมาอย่างยาวนาน จนถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และจากข้อมูลล่าสุดจากการทำสำมะโนการเกษตรปี 2556 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จากทั่วประเทศ มีผู้ถือครองทำการเกษตร จำนวนประมาณ 5.9 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ1.7 มีพื้นที่ถือครองทั้งหมดประมาณ 114.5 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ1.7 เช่นกัน และร้อยละ 96.4 ของจำนวนผู้ถือครอง หรือประมาณ 5.7 ล้านราย ในปี 2556 ทำการเพาะปลูกพืช
เชื่อหรือไม่ว่า เกษตรกรไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังมีฐานะที่ไม่มั่นคง และส่วนหนึ่งยังยากจนอยู่ ซึ่งผลการวิเคราะห์ภาวะความยากจนของครัวเรือนเกษตร ปีเพาะปลูก 2556/57 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สรุปให้เห็นว่า ครัวเรือนที่ยากจนจะมีรายได้เฉลี่ย 18,417 บาทต่อคนต่อปี แต่มีรายจ่ายเฉลี่ย 100,773 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และครัวเรือนที่ยากจนมีหนี้ 151,073 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โดยสัดส่วนของครัวเรือนที่ยากจนเท่ากับร้อยละ 26.27 ในสัดส่วนนี้ ครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีส่วนแบ่งความยากจนสูงที่สุด คือร้อยละ 55.99 รองลงมาคือ ภาคเหนือ มีส่วนแบ่งภาวะความยากจนร้อยละ 27.37 ภาคกลางมีส่วนแบ่งภาวะความยากจนร้อยละ 14.30 และภาคใต้มีส่วนแบ่งภาวะความยากจนร้อยละ 2.34
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้เขียนลงในโพสต์ทูเดย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 สรุปว่า ความยากจนมาจาก 3 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ (1) ผลผลิตต่อไร่ต่ำ (2) ต้นทุนการผลิตสูง และ (3) ขายผลผลิตได้ในราคาต่ำกว่าต้นทุน และได้เสนอแนวทางในการแก้ไขความยากจนไว้ดังนี้ คือ (1) ต้องทำให้เกษตรกรมีความรู้ ความสามารถในการเพิ่มผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (2) ต้องทำให้เกษตรกรมีความรู้ ความสามารถในการลดต้นทุนการผลิต (3) ต้องทำให้เกษตรกรมีความรู้ในการเลือกพันธุ์พืชที่ให้ผลตอบแทนสูง และ (4) ต้องทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้กำไรในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งความรู้ในข้อ 1 – 3 พอจะเทียบเคียงได้กับคำว่า เทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีการเกษตร นั้นเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นการประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการเกษตร
หนึ่งในเทคโนโลยีการเกษตรที่มีศักยภาพสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนดังกล่าวข้างต้น คือ เทคโนโลยีชีวภาพ วิกิพีเดีย ซึ่งเป็นสารานุกรมเสรี ได้ให้ความหมาย เทคโนโลยีชีวภาพ ไว้ว่า เป็นการใช้ระบบและสิ่งที่มีชีวิตเพื่อพัฒนาหรือสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ หรือ “เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใด ๆ ที่ใช้ระบบชีวภาพ สิ่งที่มีชีวิตหรืออนุพันธ์ของสิ่งที่มีชีวิตนั้น เพื่อสร้างหรือปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการสำหรับการใช้งานเฉพาะอย่าง”
ยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้น คือ พืชดัดแปลงพันธุกรรม จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนามาจากวิธีที่เรียกว่าพันธุวิศวกรรม หรือหนึ่งในเทคโนโลยีชีวภาพ
อ้า หมดพื้นที่พอดี ขอเอาไปต่ออาทิตย์หน้านะครับ