นักวิจัยพบพื้นฐานทางพันธุกรรมใหม่เกี่ยวกับความต้านทานของศัตรูพืชต่อพืชดัดแปลงพันธุกรรม

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

นักวิจัยจาก University of Arizona ภาควิชากีฏวิทยา ที่อยู่ภายใต้ วิทยาลัยเกษตร ชีววิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (College of Agriculture, Life and Environmental Sciences) แห่งสหรัฐอเมริกาได้ใช้การศึกษาจีโนมของสิ่งมีชีวิต  (genomics) เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดความต้านทานต่อพืชดัดแปลงพันธุกรรม ภายใต้สภาพแปลงปลูกของประชากรหนอนเจาะฝักข้าวโพด หรือ หนอนเจาะสมอฝ้าย (Helicoverpa zea)

นักวิจัยที่นำโดย Bruce Tabashnik หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยา ค้นพบว่า ความต้านทานของศัตรูพืชชนิดนี้ ที่พัฒนาขึ้นในสภาพแปลงปลูกไม่เกี่ยวข้องกับยีนตัวใดตัวหนึ่งจาก 20 ยีนที่เคยเกี่ยวข้องกับความต้านทานต่อโปรตีนที่เป็นพิษ (โปรตีนบีที) ต่อศัตรูพืชในพืชดัดแปลงพันธุกรรม นักวิจัยจาก University of Arizona ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานจาก Texas A&M University โดยใช้การตรวจทางชีวภาพ (bioassays) เพื่อประเมินความต้านทานโดยการทดสอบแมลงศัตรูจากแปลงปลูก และร่วมกันวิเคราะห์หนอนเจาะฝักข้าวโพด 937 ตัว ที่เก็บมาจากแปลงปลูก 17 แห่งใน 7 รัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2563

Andrew Legan นักวิจัยหลังปริญญาเอกและเป็นผู้เขียนคนแรกของรายงานนี้ กล่าวว่า “เราตรวจสอบยีน 20 ยีน ที่มีผลต่อการตอบสนองของแมลงศัตรูต่อโปรตีนบีที (Bt proteins) ที่เคยศึกษาก่อนหน้านี้ อย่างรอบคอบ หลักฐานของเราบ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของยีนเหล่านี้จากประชากรหนอนเจาะฝักข้าวโพด ไม่ได้ก่อให้เกิดความต้านทานต่อพืชบีที (Bt crops พืชที่มีโปรตีนบีที หรือพืชดัดแปลงพันธุกรรม)”

เขา เสริมอีกว่า พวกเขาพบว่าความต้านทานนั้นมีความสัมพันธ์กับกลุ่มของยีนที่มีการทำซ้ำในบางประชากรที่เก็บมาจากสภาพแปลงปลูกที่มีความต้านทาน อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นปริศนาว่ามียีนเหล่านี้กี่ยีนที่ทำให้เกิดความต้านทาน และต้านทานได้อย่างไร

แม้จะไม่ได้จำกัดสาเหตุของความต้านทานของยีนเพียงตัวเดียว แต่นักวิจัยกล่าวว่าการศึกษานี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจที่สำคัญว่าพื้นฐานทางพันธุกรรมของความต้านทานอาจแตกต่างกันระหว่างสภาพแปลงปลูกและห้องปฏิบัติการ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://news.arizona.edu/news/not-usual-suspects-novel-genetic-basis-pest-resistance-biotech-crops