โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
ผู้เชี่ยวชาญจาก School of Communication, Soochow University ในประเทศจีน ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคกว่า 600 รายในประเทศจีน เพื่อตรวจสอบการรับรู้เกี่ยวกับอาหารที่มาจากการแก้ไขยีน ผลการสำรวจนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Foods journal
การแก้ไขยีนเป็นหนึ่งในเครื่องมือใหม่ของเทคโนโลยียีนที่ใช้ในการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร อย่างไรก็ตาม การยอมรับและการนำไปปรับใช้ของอาหารที่มาจากการแก้ไขยีนดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับการแก้ไขยีน
ดังนั้น ผู้วิจัยจึงใช้ ความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติ เป็นต้นแบบ และสร้างกรอบการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติทางประชากรศาสตร์ ความรู้และความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ ความไว้วางใจทางสังคม และการรับรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยียีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายทัศนคติของสาธารณชนต่ออาหารที่มาจากการแก้ไขยีน
แบบสอบถามถูกแจกจ่ายให้กับผู้ตอบแบบสอบถาม 649 รายในประเทศจีน ผลลัพธ์แสดงให้เห็นทัศนคติที่ดีต่ออาหารที่มาจากการแก้ไขยีน โดยกว่าร้อยละ 80 แสดงความเต็มใจที่จะจ่ายเงินสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และพบว่า ระดับรายได้ ความรู้เชิงอัตวิสัย (Subjective Knowledge คือ ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ของตนเอง และตนไม่สามารถอธิบายหรือทดสอบให้ผู้อื่นรับรู้อย่างที่ตนรู้ได้) ความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ ความไว้วางใจในนักวิทยาศาสตร์ ความไว้วางใจในรัฐบาล และความไว้วางใจในความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศ และผลประโยชน์ที่รับรู้ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความเต็มใจที่จะจ่าย
นอกจากนี้ ผลกระทบของความรู้เชิงวัตถุวิสัย (Objective Knowledge คือ ความรู้ที่เกิดจากเหตุผล หรือประสบการณ์ที่สามารถอธิบายหรือทดสอบให้ผู้อื่นรับรู้ได้อย่างที่ตนรู้) ต่อทัศนคติต่ออาหารที่มาจากการแก้ไขยีนแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่สมการเชิงเส้นตรง (nonlinear relationship) อย่างมีนัยสำคัญ
ข้อค้นพบจากการศึกษานี้มีส่วนช่วยให้เกิดความเข้าใจเชิงทฤษฎีในการสื่อสารอาหารที่มาจากการแก้ไขยีน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mdpi.com/2304-8158/13/15/2348