เครือเบทาโกร จับมือ กระทรวงศึกษาธิการ และจังหวัดลพบุรี ร่วมสร้างต้นแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา ยกระดับการศึกษา พัฒนาคุณภาพเด็กไทย
นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานเปิดโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา โรงเรียนช่องสาริกา” (Partnership School) ณ โรงเรียนช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยมี นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือเบทาโกร ดร.ปัญญา แก้วเหล็ก ศึกษาธิการจังหวัดลพบุรี ผศ.ดร.เฉลิมชัย หาญกล้า รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี นายสมบัติ ท้าวสาบุตร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ตำบลช่องสาริกา และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจากภาคราชการ สถาบันการศึกษา และชุมชนในพื้นที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา
วัตถุประสงค์โครงการนี้ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตให้แก่ผู้เรียน ให้สถานศึกษาซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชน เป็นศูนย์กลางการพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิต ยกระดับความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในการบริหารจัดการ ร่วมพัฒนาและสนับสนุนสถานศึกษา ให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
นายวนัส กล่าวว่า เครือเบทาโกรมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้สังคมไทยผ่านแนวคิดการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic – Area Based Community Development: HAB) มาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยครอบคลุมใน 5 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา และสุขภาพ ซึ่งมิติด้านการศึกษา สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาผ่านโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา โดยผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนในการพัฒนาระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น ซึ่งเครือเบทาโกรได้คัดเลือกโรงเรียนช่องสาริกาเป็นโรงเรียนนำร่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาโดยมีเป้าหมายคือ สร้างเด็กดี เด็กเก่ง ที่ไม่ทิ้งถิ่นฐาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“แนวทางการพัฒนาการศึกษารูปแบบ Partnership School ของเครือเบทาโกร คือนำหลักการและแนวคิดการพัฒนาด้านการศึกษา จากโครงการ 1 โรงเรียน 1 โรงงาน 1 หมู่บ้าน ที่เครือเบทาโกร ดำเนินโครงการอยู่ในพื้นที่ตำบลช่องสาริกา รวมทั้ง การพัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงพื้นที่แบบองค์รวมหรือ HAB มาประยุกต์ใช้ โดยมีแผนการดำเนินงาน ระยะสั้นคือเพื่อยกระดับความรู้ของเด็กนักเรียนให้มีคะแนนสอบที่สูงขึ้น เช่น การวัดความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (NT) หรือ การสอบ O-NET ระยะกลางเน้นการพัฒนาวิธีการเรียนการสอน (Constructionism) และพัฒนาการบริหารจัดการในโรงเรียน ส่วนระยะยาว ให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ Career Based Academy โดยความสำเร็จของโครงการคือ เด็กนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น เด็กมีคุณธรรมจริยธรรม และทุกภาคส่วนร่วมพัฒนา เห็นคุณค่าชุมชน” นายวนัสกล่าว
สำหรับคณะทำงานโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ช่องสาริกา ประกอบด้วยภาคีร่วมดังนี้ ภาคีที่ 1 โรงรียน พี่เลี้ยง: โรงเรียนอนุบาลพัฒนานิคม ภาคีที่ 2 ภาคเอกชน: เครือเบาโกร ภาคีที่ 3 มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง: มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลพบุรี และภาคีที่ 4 ภาคประชาสังคม: วัด ผู้ใหญ่บ้าน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชุมชน