ปักหมุด “คทช.ระบำ” ต้นแบบ “จัดที่ดินทำกินให้ชุมชน”

  •  
  •  
  •  
  •  


 กระทรวงเกษตรผนึกกำลังปักหมุด “คทช. ระบำ” จ.อุทัยธานี เป็นพื้นที่ต้นแบบโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล เตรียมตั้งหน่วยบูรณาการทำหน้าที่ประสานงานทุกภาคส่วน และบูรณาการกิจกรรมการพัฒนาทุกรูปแบบในพื้นที่ คทช. สร้างกลไกการบริหารจัดการที่ดินทำกินโดยกลไก 7 ภาคี ฟื้นป่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้

            นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ณ ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี โดยได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายประสานแผนงานอย่างบูรณาการโดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นหลักคิด พร้อมกันนี้เตรียมจัดทำแผนเคลื่อน 9 โมเดลนำร่องพื้นที่ คทช. บูรณาการแผนยุทธศาสตร์และงบประมาณร่วมกัน

            อย่างไก็ตามที่ ที่ผ่านมาการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาสนับสนุนให้พื้นที่ คทช.ระบำ มีความคืบหน้าอย่างมาก เริ่มจากการจัดการระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำดื่ม น้ำใช้ โดยกรมชลประทาน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้ามาจัดระบบสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดินร่วมทำระบบพัฒนาดินและบ่อจิ๋วในไร่นา กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมหม่อนไหม ศูนย์วิจัยเข้าไปส่งเสริมอาชีพ เกษตรจังหวัดส่งเสริมเกษตรผสมผสาน

        ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับจังหวัดอุทัยธานีได้เข้ามาสนับสนุนเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัย เป็นโมเดลนำร่องที่น่าสนใจ ควรพัฒนาต่อให้เป็นกลไกการทำงานร่วมกันทั้งในระดับกระทรวง และต่างกระทรวง และในระดับพื้นที่-ชุมชน เชื่อมโยงระดับจังหวัด เครือข่ายจังหวัด และระดับชาติเพื่อจัดทำนโยบายที่สอดคล้อง หรือแก้ไขกฎหมายบางข้อที่ขัดแย้ง หรือไม่เอื้อต่อการทำงานแบบบูรณาการตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นให้การทำงานของภาครัฐเป็นไปในแบบบูรณาการและมีส่วนร่วมกับประชาชน พื้นที่ในโครงการ คทช. เป็นพื้นที่จัดสรรชุมชนใหม่ เหมาะสมกับการทำเป็นโครงการนำร่องซึ่งที่ระบำนี้ได้เริ่มต้นแล้ว

            นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า โครงการ คทช.ระบำ เป็นพื้นที่นำร่องการทำงานแบบบูรณาการเพื่อเป้าหมายที่ชัดเจน คือการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ดินสงวนหวงห้ามของรัฐและปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากใน จ.อุทัยธานี ในปี 2559 ได้จัดสรรที่ดินทำกินจากที่ดินแปลงว่างเนื้อที่ประมาณ 3,239 ไร่ ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เคยขอใช้ประโยชน์และหมดอายุสัญญาเช่าจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มาดำเนินการจัดที่ดินแปลงรวมให้สหกรณ์เป็นผู้เช่าที่ดินและจัดการบริหารที่ดินในรูปแบบกลุ่มเกษตรกรจึงมีการจดจัดตั้งสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด ขึ้นเพื่อเช่าพื้นที่รายแปลงโดยได้รับการยกเว้นค่าเช่า 3 ปี

         ปัจจุบันได้จัดแบ่งแปลงเป็น 8 ชุมชน จัดคนลงไปแล้ว 6 ชุมชน 355 แปลง เกษตรกรเข้าอยู่อาศัย 317 ราย ส่วนใหญ่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว บางส่วนทำเกษตรผสมผสาน ปศุสัตว์และปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เนื่องจากยังไม่มั่นใจว่าจะมีอาชีพและรายได้ที่แน่นอน

[adrotate banner=”3″]

             “การเข้ามาตรวจเยี่ยมครั้งนี้ตั้งใจว่าจะยกระดับการจัดการพื้นที่ทำกินให้เป็นต้นแบบการจัดการที่ดินด้วยศาสตร์พระราชา โดยอาศัยกลไกบูรณาการทำหน้าที่ประสานงานทุกภาคส่วน และบูรณาการกิจกรรมการพัฒนาทุกรูปแบบในพื้นที่ คทช. สร้างกลไกการบริหารจัดการที่ดินทำกินโดยกลไก 7 ภาคี ฟื้นป่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ คาดว่าจะเห็นผลภายใน 5 ธันวาคมนี้ เพราะชาวบ้านที่นี่เข้มแข็งมาก หน่วยงานต่าง ๆ ก็เข้าร่วมเป็นอย่างดีจะเกิดผลแน่นอนและจะลงมาติดตามเองในอีกสามเดือนข้างหน้า” นายวิวัฒน์ กล่าว