ได้ฤกษ์แล้ว “จอบแรกเปลี่ยนน่าน เอามื้อเอาแฮง” อ.ยักษ์นำทีม
เริ่มปฐมฤกษ์ “จอบแรกเปลี่ยนน่าน เอามื้อเอาแฮง” งานนี้ “อ.ยักษ์” นำทีมลงมือปฏิบัติการในแปลงเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน อ.ท่าวังผา จ.น่าน ยึด “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นแม่แบบ
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในกิจกรรม “จอบแรกเปลี่ยนน่าน เอามื้อเอาแฮง” พร้อมทั้งปฐมฤกษ์ลงจอบแรกในแปลงเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน บ้านยู้ หมู่ที่ 5 ต.จอมพระ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ก่อนพบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้เข้าร่วมงาน โดยมี นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการสำนักปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ปฏิรูปที่ดินจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้
นายวิวัฒน์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดเป็นนโยบายในการจัดทำแผนงานบูรณาการการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร ประจำปี 2561 และแผนปฏิรูปภาคเกษตรระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) ขับเคลื่อนแผนงานกิจกรรมไปสู่เป้าหมายภายใต้ชื่อ “แผนงานการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน” รวม 5 กิจกรรม ได้แก่เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ และวนเกษตร โดยมีเป้าหมายให้พื้นที่การทําเกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านไร่ภายในปี 2564
สำหรับ กิจกรรมการเอามื้อ เอาแฮง เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมการช่วยเหลือกัน และสร้างความสามัคคีในกลุ่มเกษตรกรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้เมื่อ ปี 2557 ว่า “สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย” และการถือแรงโดยใช้จอบเป็นวิธีการเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วม เพราะทุกเพศทุกวัยสามารถมาทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมาก ทุกคนมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ฟื้นฟูดิน เพิ่มพื้นที่ป่าและเป็นเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยวิถีภูมิปัญญา ในขณะเดียวกันภาคส่วนอื่น ๆ ที่มีกำลังก็สามารถหนุนเสริมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม เพื่อให้งานส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนสามารถดำเนินการได้อย่างก้าวหน้ารวดเร็วยิ่งขึ้น
[adrotate banner=”3″]
ด้านนายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผยว่า ส.ป.ก. ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561–2564 มีพื้นที่ดําเนินการ ปีละ 45,000 ไร่ การขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน รวมถึงวนเกษตร โดยนํารูปแบบโคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเป็นการนำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในด้านการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตรผสมผสาน กับภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน ได้แก่ แหล่งน้ำ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด : ทํานา/ปลูกข้าว ร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด : ทำโคก/ปลูกป่า ร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด : ที่อยู่อาศัย และเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด
“ในการทําโคก/ปลูกป่า จะใช้หลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เช่นเดียวกับการทําระบบวนเกษตร จึงถือได้ว่า ระบบวนเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของ โคก หนอง นา โมเดล โดยกิจกรรม “จอบแรกเปลี่ยนน่าน เอามื้อเอาแฮง” เป็นการปฐมฤกษ์ ลงจอบแรกในแปลงเกษตรของนางบัวรอง ปะทิ ณ บ้านยู้ หมู่ที่ 5 ต.จอมพระ อ.ท่าวังผา จ.น่าน เพื่อเป็นแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามรูปแบบโคก หนอง นา โมเดลต่อไป” นายสุรจิตต์ กล่าว