“อ.ยักษ์”ปลุกชุมชนขึ้นเป็นผู้นำเกษตรยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

“อาจารย์ยักษ์” ปลุกชุมชนต้องลุกขึ้นมาเป็นแกนนำ หันมาเกษตรกรรมยั่งยืน เน้นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ เกษตรวิถีธรรมชาติ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เพื่อเร่งขยายการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปทั่วประเทศ ตั้งเป้าปี 64 ต้องได้ 5 ล้านไร่ ชี้ผ่านมาที่ประสบปัญหาที่ผ่านมาตลาดมี แต่ผู้ค้า-เกษตรกร ขาดความซื่อสัตย์ ที่ต้องมาสร้างตลาดใหม่

           นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน เน้นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ เกษตรวิถีธรรมชาติ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร ฯลฯ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นการเกษตรที่ช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า ให้กลับคืนมา ตั้งเป้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ไว้ที่ 5 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี โดยต้องทำให้ได้ปีละ 1 ล้านไร่ หรือมากกว่า

           สำหรับเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรจะต้องยึดความรู้และคุณธรรมให้มั่น ควรศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างจริงจัง โดยต้องยึดความซื่อสัตย์เป็นหลัก ที่ผ่านมาพบปัญหาว่า แม้จะมีตลาดรองรับแต่ผู้ค้าขาดความซื่อสัตย์หรือผู้ปลูกผลิตผลไม้ที่ไม่ได้คุณภาพก็จะเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง ตลาดที่พยายามสร้างก็สูญเสียไปต้องมาสร้างความเชื่อถือกันใหม่

           ทั้งนี้ กลไกสหกรณ์และมาตรฐานแบบรับรองกันเองสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จะเป็นกลไกเครือข่ายที่ช่วยกันสร้างความยั่งยืนให้กับระบบผลิต ที่สำคัญภาครัฐต้องปรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการ ชุมชนต้องลุกขึ้นมาเป็นแกนนำ สื่อมวลชนต้องเข้ามาช่วยเชื่อมโยงสู่ผู้บริโภค เพื่อเร่งขยายการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปทั่วประเทศ ให้สามารถมีผลผลิตเพียงพอสำหรับบริโภคภายในประเทศและพัฒนาสู่การส่งออก

[adrotate banner=”3″]

            ทั้งนี้ ตลาดเจริญสุข ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี เป็นตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ จับมือร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นตลาดประชารัฐ-วัฒนธรรม ซึ่งผลผลิตที่นำมาจำหน่ายกระทรวงเกษตรรับรองมาตรฐานสินค้าปลอดภัย เครือข่ายเกษตรอินทรีย์รับรองมาตรฐานการผลิตแบบมีส่วนร่วมด้วย PGS ที่เป็นมาตรฐานการรับรองโดยภาคีเครือข่าย ทำให้เห็นความเข้มแข็งและการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายอย่างชัดเจน โดยมีความมั่นใจว่า จ.จันทบุรี จะเป็นจังหวัดนำร่องพัฒนากลไกการผลิตสินค้ามาตรฐานปลอดภัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการดูแลดินจนถึงมือผู้บริโภค โดยยึดศาสตร์พระราชา

          ที่สำคัญต้องต่อยอดสู่เกษตรกรคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีคนกลุ่มนี้พร้อมดำเนินการอยู่แล้ว ต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็ง ใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาร่วมพัฒนาเป็นผู้ประกอบการ ก็จะสามารถเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์สู่เมืองมหานครผลไม้ต่อไป