วว. จับมือ สยามคูโบต้า หนุนภาคเกษตร ชูความสำเร็จผลงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกดอกไม้ตัดดอกด้วยเครื่องจักรกล เผยให้คูโบต้าฟาร์มเป็นพื้นที่แห่งการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกร หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนผู้สนใจ ทั้งด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร ที่สอดคล้องกับกระบวนการเพาะปลูกพืชสมัยใหม่ รวมถึง Solutions ด้านการเกษตรในหลากหลายมิติ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ นางสาวปัทมา ลิ่วเลิศมงคล ผู้อำนวยการ กองประชาสัมพันธ์ และคณะนักวิจัยและบุคลากร วว. เยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงานโครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกดอกไม้ตัดดอกโดยใช้เครื่องมือจักรกลการเกษตร” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง วว. กับ บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (KUBOTA)
โดยมี นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทคูโบต้า นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ ที่ปรึกษาสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด(SCG) และประธานกรรมการ บริษัท เกษตรอินโน จำกัด คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ KUBOTA ร่วมให้การต้อนรับ ในวันที่ 24 เมษายน 2567 ณ คูโบต้าฟาร์ม (KUBOTA FARM) อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
ดร.ชุติมา กล่าวว่า การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยการนำเครื่องจักรกลเข้ามาใช้ร่วมกับการปลูก ถือเป็นมิติใหม่ของการปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่ทันสมัย ส่งผลให้ผลผลิตที่เกิดขึ้นมีทั้งปริมาณและคุณภาพที่ดี ลดการสูญเสีย ช่วยทดแทนแรงงานคน และลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น รวมทั้งสามารถพยากรณ์ปริมาณผลผลิตและวันในการให้ผลผลิตได้อย่างแม่นยำขึ้น โดย วว. คาดหวังว่าชุดข้อมูลที่เกิดจากการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัย การพัฒนาสายพันธุ์ และการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรหรือนักลงทุนสนใจในการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อพัฒนาต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม อันจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
ด้านนางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส สยามคูโบต้า กล่าวว่า มุ่งหวังให้คูโบต้าฟาร์มเป็นพื้นที่แห่งการ ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกร หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนผู้สนใจ ทั้งด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร ที่สอดคล้องกับกระบวนการเพาะปลูกพืชสมัยใหม่ รวมถึง Solutions ด้านการเกษตรในหลากหลายมิติ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายความร่วมมือของการวิจัยครั้งนี้กับ วว. ที่มุ่ง บูรณาการ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการปลูกดอกไม้ตัดดอกให้แก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายทั่วประเทศ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถสู่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถใช้เครื่องจักรกลการเกษตร มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการวางแผนการเพาะปลูก ภายใต้รูปแบบเกษตรสมัยใหม่ที่ช่วยสร้างรายได้และมีระบบการบริหารจัดการที่ดี
ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการฯ วว. ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับภาคการผลิตให้สอดคล้องห่วงโซ่การผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ประกอบด้วย 1) การพัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 2) พัฒนาปัจจัยการผลิตเกษตรปลอดภัยสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ 3) ยกระดับการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับที่ดีด้วยเกษตรแม่นยำ และ 4) พัฒนาเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรเข้ามาใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพให้ยั่งยืน