ถ้าพูดถึงเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมและสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายวงการ นาทีนี้คงหนีไม่พ้น “ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI” ที่ปัจจุบันมีพัฒนาการและความล้ำแบบก้าวกระโดด หลายธุรกิจนำ AI มาประยุกต์ใช้ได้แบบไม่น่าเชื่อ ซึ่งบางอย่างอาจจะเกินความสามารถมนุษย์ ทำให้ “AI” ถูกตั้งคำถามว่าจะมาสร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หรืออาจมาช่วงชิงสิ่งที่มนุษย์เคยทำได้หรือไม่ โดยข้อสงสัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจต่อผู้ใช้และทรรศนะที่ว่า “AI คือเครื่องมือที่จะมาสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับสังคม”
ทั้งนี้ เพื่อเปิดอีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับ AI สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะพาไปสัมผัสกับ 4 ตัวอย่างของการใช้ AI ที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA เพื่อนำมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเรียกได้ว่าเข้ามาเปิดโอกาสและเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความเท่าเทียม ครอบคลุมทั้งการจ้างงาน การสร้างสังคมให้น่าอยู่ การลดภาระทางสุขภาพ รวมถึงโอกาสทางการศึกษา ที่ทั้งหมดล้วนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น
“AI” กับการสร้างโอกาสในการศึกษาให้ผู้พิการทางการได้ยิน
เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถปรับเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ เทียบเท่ากับการมีครูผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาส่วนตัวผ่านอุปกรณ์พกพา ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้หลากหลาย และมีรูปแบบที่กระชับรวดเร็วขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ โดยมีตัวอย่าง เช่น แฟมิลี่เดฟ: แพลตฟอร์มการเรียนรู้ภาษามือด้วย AI เพื่อเพิ่มโอกาสทางสังคมของผู้พิการทางการได้ยิน ด้วยระบบ ASL (American Sign Language) ที่มาช่วยแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำด้านการเรียนรู้ภาษามือ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท แฟมิลี่ เดฟ จำกัด
เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินเข้าถึงการเรียนรู้ภาษามือที่เป็นมาตรฐานสากลจากอเมริกาได้ง่าย สะดวก และราคาถูก ซึ่งภาษามือที่เป็นสากลจะช่วยให้สื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจเพราะมีผู้ใช้จำนวนมาก และยังเป็นต้นแบบภาษามือของไทยอีกด้วย ทั้งนี้ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ภาษามือด้วย AI มีฟีเจอร์สำคัญ เช่น การเรียนรู้คำศัพท์ในชีวิตประจำวัน โดยการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยตรวจสอบการสะกดนิ้วที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินฝึกฝน ฟีเจอร์หมวดสื่อออนไลน์ที่รองรับภาษามือระหว่างดู เพื่อให้ผู้พิการได้ฝึกฝนการอ่านภาษามือจากสื่อ ช่วยให้ผู้พิการรับรู้ข่าวสารผ่านล่ามทีวีได้อย่างเข้าใจ อีกทั้ง ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการสามารถเรียนรู้สื่อการสอนวิชาชีพผ่านเว็บแอปแฟลิมี่เดฟ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพให้สามารถสร้างงาน และสร้างรายได้ด้วยตนเอง
“AI” สะพานเชื่อมสุขภาพจิต
การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพด้วย AI มีส่วนช่วยให้การตรวจและวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้นทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการนำ AI เข้ามาใช้ทั้งในกระบวนการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) รวมถึงแชทบอท โดยวิธีการเหล่านี้เป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสและคนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการรักษา อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้แนวโน้มค่าบริการทางการแพทย์ถูกลง และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ปัจจุบัน AI ไม่ได้มีแค่บทบาทต่อการรักษาสุขภาพทางกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตด้วย ลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการดังกล่าว เช่น จำนวนแพทย์ไม่เพียงพอ การเดินทางไปสถานพยาบาล ความกล้าที่จะปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีตัวอย่างนวัตกรรมที่นำ AI เข้ามาช่วยให้คนเข้าถึงบริการสุขภาพจิตแล้ว เช่น BOTNOI: สมาร์ทแชทบอทสำหรับปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ที่กรมสุขภาพจิตร่วมกับบริษัท ไอบอทน้อย จำกัด พัฒนาขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนผ่านข้อความอัตโนมัติ (Voice Bot) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเทคโนโลยี AI ช่วยประเมินระดับความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล ฆ่าตัวตาย และระดับภาวะอารมณ์อื่น ทำให้ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตสามารถดูแลตนเองและอยู่ร่วมกับสังคมได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนและความเหนื่อยล้าของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ต้องรองรับผู้รับบริการจำนวนมาก ทำให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการได้รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย ลดโอกาสการตีตราจากสังคมในการเข้ารับการปรึกษาด้านสุขภาพจิต และเพิ่มความรู้สึกเป็นส่วนตัวให้ผู้รับบริการได้มากขึ้น
“AI” กับการแมตช์คนพิการสู่งาน Live Chat Agent”
ปัจจุบัน AI เป็นอีกเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจอย่างมาก ทั้งศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์ตลาดแรงงาน การจับคู่ผู้สมัครงานกับงานที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังช่วยให้การทำงานของกลุ่มเปราะบางเกิดความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะงานด้านลูกค้าสัมพันธ์ การตอบข้อสงสัยในช่องทางออนไลน์ของกลุ่มธุรกิจบริการ ที่ต้องบอกว่ากลุ่มผู้พิการมีความสามารถและทักษะการทำงานเช่นเดียวกับคนปกติ
ทั้งนี้ จึงมีนวัตกรรมที่ชื่อว่า Vulcan โครงการ Live Chat Agent เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพใหม่สำหรับคนพิการด้านการมองเห็น และคนพิการทางด้านร่างกาย ที่นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยอ่านข้อความและออกเสียงข้อสงสัยจากกลุ่มลูกค้าทางช่องแชทข้อความ ช่วยให้ผู้พิการทางการมองเห็นสามารถทราบปัญหาและโต้ตอบกับลูกค้าได้โดยไม่ติดข้อจำกัด ลดปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ข้อสงสัยถูกตอบกลับได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ โซลูชันดังกล่าวได้ช่วยลดภาระการเดินทางของคนพิการ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสการจ้างงาน และสร้างโมเดลการจ้างงานที่ใช้ศักยภาพของคนพิการในการสร้างมูลค่าให้แก่ภาคธุรกิจ ช่วยเสริมความต้องการในตลาดแรงงานด้านการบริการลูกค้าในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่บุคลากรในอุตสาหกรรมนี้กลับไม่เพียงพอเพราะมีอัตราการหมุนเวียนสูง รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เน้นความรวดเร็วและสะดวกสบายได้เป็นอย่างดี
“AI ผู้ช่วยเตือนภัย แก้ไขเหตุฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องรอ
การนำ AI มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและจัดการข้อมูลเมืองที่กระจัดกระจายอยู่มากมาย จะช่วยให้ผู้ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายต่าง ๆ สามารถเห็นความเชื่อมโยงของข้อมูล อีกทั้งความสามารถในการใช้ข้อมูลสถิติและการประมวลผลที่รวดเร็วของ AI นั้น ยังช่วยเฝ้าระวังหรือคาดการณ์เหตุการณ์อันตราย รวมถึงเสนอแนวทางป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ จึงช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมวิธีแก้ปัญหาระดับเมืองด้วยแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
จากความอัจฉริยะดังกล่าวนำมาซึ่งการพัฒนา โครงการ 24 HI-CARE CENTER: ระบบสายตรวจอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจ โดยบริษัท บีเอ็มเค ซีซีทีวี จำกัด ได้นำเทคโนโลยีกล้องโทรทัศน์วงจรปิด AI รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือน และ ระบบ SOS ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน มาทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถป้องกันปัญหาในเชิงรุกก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้สายตรวจทำงานได้อย่างถูกจุด ลดภาระงานการขับรถออกตรวจที่สิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำมันและกำลังคน มีการปรับเปลี่ยนเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมไปถึงที่เกิดเหตุได้ทันทีเมื่อระบบแจ้งเตือน และเข้าดำเนินการกับคนร้ายได้ก่อนเหตุการณ์จะลุกลามบานปลาย ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงช่วยให้สังคมมีความปลอดภัยและน่าอยู่มากขึ้น
จะเห็นได้ว่า AI คือเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้บรรลุการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคม แต่การใช้งานต้องคำนึงถึงจริยธรรม ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส และยังจำเป็นต้องมีการกำหนดกรอบนโยบายเพื่อควบคุมการใช้งาน AI และตรวจสอบให้แน่ใจว่าสิ่งที่กำลังดำเนินการพัฒนานั้นเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ หรือสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง มิเช่นนั้น AI อาจจะทำให้ความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ถ่างออกไปมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่มีแนวคิดและนวัตกรรมในการนำ AI เข้ามาช่วยพัฒนาให้สังคมดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในมิติใด ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พร้อมสนับสนุนท่าน เปลี่ยนไอเดียเป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยสังคมได้จริง โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://social.nia.or.th/
หมายเหตุ : เป็นบทความจากภายนอกที่ผ่านการตรวจจากกองบรรณาธิการแล้ว