สวก. จับมือพันธมิตร พัฒนาโครนขนส่งสินค้าเกษตรไทยในพื้นที่กันดาร

  •  
  •  
  •  
  •  

                      จากซ้าย : นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ -นาวาอากาศเอกคมสันต์ ประพันธ์กาญจน์ -ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร จับมือพันธมิตร “สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ-สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง” ลงนามMOU ว่าด้วย “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน” ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีสองทาง” หวังยกระดับการขนส่งสินค้าเกษตรไทยและสนับสนุนผลงานวิจัยแก้ปัญหาต้นทุนการขนส่งพื้นที่ห่างไกล ด้วยการใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน”กับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส.  ยกระดับการขนส่งสินค้าเกษตรไทย พร้อมสนับสนุนผลงานวิจัยแก้ปัญหาต้นทุนการขนส่งพื้นที่ห่างไกลด้วยการใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ณ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับสำหรับกิจกรรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีสองทาง (Dual-Use Technology)” ด้านภาคพลเรือนเน้นพื้นที่ทุรกันดารหรือเข้าถึงยาก มุ่งสนับสนุนการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเศษวัสดุทางการเกษตรหลังจากบดอัดแล้วเพื่อขนส่งไปที่โรงงาน ด้านภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการด้านการเกษตร

ทั้งนี้เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับ รวมถึงให้สนับสนุนการให้การศึกษา วิจัยและพัฒนา การฝึกอบรมการใช้งาน การปรนนิบัติบำรุงและการซ่อมบำรุงอากาศยานไร้คนขับตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility) ของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และร่วมกันสนับสนุนผลักดันให้เกิดการนำผลงานที่เกิดจากความร่วมมือนี้ ไปสู่การต่อยอดการใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ และเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป

“การลงนามในครั้งนี้นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทย ในการร่วมยกระดับอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรฯ และอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ อีกทั้งยังส่งเสริมการเติบโตและต่อยอดในภาคธุรกิจ ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและพัฒนาบุคลากรของทั้ง 3 องค์กรไปพร้อมกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทยต่อไป” นายชวลิต กล่าว

ด้าน ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวเสริมว่า ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สวก. ได้ดำเนินงานตามพันธกิจขององค์กรอย่างเต็มความสามารถ ทั้งผลักดันให้เกษตรกรก้าวไปสู่เกษตรกรสมัยใหม่ สามารถสร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงทางรายได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น พร้อมสร้างแหล่งทรัพยากร อาหาร ยา วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมนานาชนิด รวมถึงสร้างทรัพยากรหมุนเวียนที่ใช้ทดแทน พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของมนุษยชาติ

ขณะเดียวกัน สวก. ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกองทุนส่งเสริม ววน. ดังนั้น การสนับสนุนทุนวิจัยอากาศยานไร้คนขับจึงเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญ โดยเปลี่ยนจากโดรนด้านการเกษตรเป็นโดรนอเนกประสงค์ นอกเหนือจากการพ่นยา ปุ๋ยเคมี และการสำรวจแล้ว ยังสามารถส่งผลผลิตเกษตรจากพื้นที่การขนส่งที่เข้าถึงได้ยากในจำนวนครั้งที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ยังเป็นการบินสำรวจพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังพัฒนาขีดความสามารถในการสำรวจพื้นที่แปลงเกษตรประกอบการทำข้อมูลระดับพื้นที่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับวางแนวทางพัฒนาแปลงเกษตร ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าผลงานวิจัยดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อร่วมต่อยอดและยกระดับการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เราเชื่อว่าการวิจัยและนวัตกรรมคือพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นจึงมุ่งมั่นสร้างสรรค์พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาในภาคการเกษตรของประเทศ ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า สวก. เป็นผู้นำในการบริหารการวิจัยการเกษตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน” ผอ.สวก. กล่าว

ขณะที่ นาวาอากาศเอกคมสันต์ ประพันธ์กาญจน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เผยว่า สทป. มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ค้นคว้า และพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับ พร้อมดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาองค์ประกอบพื้นฐานของระบบอากาศยานไร้คนขับ นำไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการด้านการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์ต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น อีกทั้งในระหว่างการขนส่ง มักเกิดปัญหาด้านความเสียหายของผลผลิตระหว่างการขนส่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับทุกภาคส่วน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นกันและด้วยความพร้อมของ สทป. ที่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการวิจัยอากาศยานไร้คนขับทุกขนาด รวมถึงมีศูนย์ฝึกอบรวมผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือน จึงลงนามความร่วมมือฯ สอดรับกับเป้าประสงค์ที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับ อีกทั้งยังเล็งเห็นประโยชน์และพร้อมยกระดับการขนส่งไทยให้แข็งแกร่ง ตลอดจนสนับสนุนภาคการเกษตรให้ได้รับประโยชน์ด้านการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วน นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า ปัจจุบันการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรจากพื้นที่สูงมีความท้าทาย เนื่องจากระบบโลจิสติกส์ที่ยังไม่ตอบโจทย์ ทั้งยังมีข้อจำกัดด้านการขนส่งที่อาจเกิดความเสียหายได้ง่าย รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง ทั้งนี้ คาดหวังถึงการลงนามความร่วมมือฯ จะก่อเกิดประโยชน์แก่ประชากรไทย โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งเป็นกำลังสำคัญของภาคการเกษตรที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป

“ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น การขนส่งแบบเดิมจึงไม่ตอบโจทย์ แต่เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ สามารถแก้ไขตรงนี้ได้ในหลากหลายมิติ รวมถึงองค์ความรู้ที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทการขนส่งในปัจจุบัน โดย สวพส. มุ่งหวังว่าการลงนามความร่วมมือฯ ครั้งนี้ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถช่วยให้การขนส่งผลผลิตด้านเกษตรมีมูลค่าสูงที่สุด และไม่เกิดความเสียหาย นำไปสู่การทำให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุขมากขึ้น” นายวิรัตน์   กล่าว