“ธรรมนัส” หนุนใช้งานวิจัย หวังพลิกโฉมเกษตรไทยสู่ตลาดสากล

  •  
  •  
  •  
  •  

“ธรรมนัส” ประกาศชัด สนับสนุนให้ใช้งานวิจัย เพื่อพลิกโฉมภาคเกษตรไทยสู่ตลาดสากล หวังให้ไทยคือผู้นำสินค้าเกษตรในตลาดโลก ขณะที่ สวก. เตรียมโชว์งานวิจัยเด่น 6 เมกะเทรนด์ เปลี่ยนโลกในงาน “เปลี่ยนวิถีเกษตรไทย ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” ระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายนนี้ ที่ ศูนย์สิริกิติ์ฯ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานงานแถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการและจัดแสดงผลงานวิจัย และนวัตกรรมด้านการเกษตร “เปลี่ยนวิถีเกษตรไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” AgriTech and Innovation (Moving Forward: From Local to Global) จัดโดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ณ ห้อง 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า รัฐบาลมีเป้าหมาย ต้องการให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง พัฒนาทรัพยากรเกษตรให้ยั่งยืน เพื่อให้ภาคเกษตรไทยคือผู้นำสินค้าเกษตรในตลาดโลก

หนึ่งในนโยบายที่ให้ความสำคัญ คือ การผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อสร้างรายได้ สร้างโอกาสให้พี่น้องเกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมการทำเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG/Carbon Credit เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรากฐานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของนโยบายต่าง ๆ นี้ คือองค์ความรู้ในการทำการเกษตร และการนำงานวิจัยและนวัตกรรม เข้ามาช่วยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาภาคการเกษตร

“กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อการเกษตร และผลักดันงานวิจัยมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยสวก. และกรมวิชาการเกษตร จะต้องร่วมมือกันนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่และขยายผลในรูปต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ซึ่งงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ นี้ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างรายได้ ลดภาระหนี้สิน และลดต้นทุน กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มุ่งเน้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบเดิม โดยยกระดับภาคเกษตรเข้าสู่การเกษตรสมัยใหม่ โดยยึดหลัก ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ อีกทั้ง ต้องบูรณาการความร่วมมือกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน” รมว.เกษตรฯ กล่าว

โอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนทุกท่าน เข้าร่วมในงานประชุมวิชาการและจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเกษตร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2566 ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ทั้งนี้ภายในงานจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่น่าใจ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ภาคเอกชนและผู้ประกอบการในภาคการเกษตร รวมทั้งกลุ่มเกษตรกร จะได้นำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดพัฒนา เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร เกิดการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การทำเกษตรอัจฉริยะหรือเกษตรแม่นยำ ส่งผลให้เกิดการพลิกโฉมเกษตรไทย สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

ด้านนายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า งานวิจัยและนวัตกรรมด้านเกษตร ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ให้ไปสู่การทำ เกษตรกรรมแบบแม่นยำสูงหรือฟาร์มอัจฉริยะ อันจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต ได้ปริมาณผลผลิตสูงขึ้น มีคุณภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมให้กับประเทศ ทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสำคัญของผลผลิตทางการเกษตรของโลกต่อไป

ขณะที่ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวเพิ่มเจิมว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สวก. พัฒนาและเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ มีผลงานที่ผลักดันไปสู่การใช้ประโยชน์แล้วกว่า 900 โครงการ มีผลการประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมกว่า 15,000 ล้านบาท การจัดงานในครั้งนี้ จึงได้นำงานวิจัยที่ตอบโจทย์การทำเกษตรกรรมยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพ มีการนำไปใช้จริงและมีการขยายผลแล้ว มาจัดแสดงเป็นไฮไลท์ของงานในโซน 20 ปี ของ สวก. และโซน 6 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก ได้แก่ 1) Agritechnology 2) Coffee & Tea 3) Food & Beverage 4) BCG 5) Health & Beauty และ 6) Agricultural Sustainability

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงาน ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น. นอกจากนี้ ภายในงานยังมีปาฐกถา และการบรรยายที่น่าสนใจ อาทิ การบรรยาย หัวข้อ “เกษตรไทยจะเปลี่ยนไปด้วยวิจัยและพัฒนา” โดยท่านปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การเสวนา หัวข้อ “ก้าวทันสภาวะอากาศที่เปลี่ยนไป กับอนาคตเกษตรไทยเปลี่ยนแปลง” และหัวข้อ “นวัตกรรมอาหารไทย สู่ความมั่นคงอาหารโลก”