สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ประสบผลสำเร็จพัฒนา ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์แบบน็อคดาวน์ ต้นทุนการผลิตต่ำ มีประสิทธิภาพอบแห้งผลไม้ สมุนไพร อาหาร ได้สม่ำเสมอ มี 2 ขนาดให้เลือกใช้ “แบบชั้นเดียว สำหรับใช้ในครัวเรือน- แบบ 4 ชั้น ระดับผู้ประกอบการ” พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาเครื่องจักรจากต่างประเทศ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. ดำเนินโครงการครัวแบ่งปัน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิต แปรรูปอาหาร ด้วยมาตรฐาน GMP ให้แก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร การวิจัยและพัฒนา “ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์แบบน็อคดาวน์” สำหรับอบแห้งผลไม้ สมุนไพรและอาหาร เช่น กล้วยตาก มะม่วงกวน ขิง ขมิ้น ใบเตย หมูแดดเดียว กุ้งแห้ง ปลาเค็ม เป็นต้น เป็นผลงานวิจัยและพัฒนา โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว. ภายใต้การดำเนินโครงการดังกล่าว ผลงานพัฒนามีจุดเด่นคือ มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง อัตราการอบแห้งสม่ำเสมอ ต้นทุนต่ำ เลือกใช้วัสดุที่มีขายตามท้องตลอดทั่วไป โครงสร้างหลักทำด้วยเหล็กฉากเจาะรูชุบกัลวาไนซ์ สามารถถอดประกอบได้ง่าย เคลื่อนย้ายและติดตั้งใช้งานได้สะดวก เหมาะสำหรับใช้งานกลางแจ้ง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมแสงแดดจัด ออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างประกอบเองได้ โดยมีคู่มือรายการวัสดุพร้อมแผนภาพแสดงวิธีการประกอบอย่างละเอียด มีให้เลือกใช้งาน 2 ขนาด คือ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต
1) แบบชั้นเดียว เหมาะสำหรับใช้งานในครัวเรือนและผู้ประกอบการเริ่มต้นธุรกิจ มีพื้นที่อบแห้งสูงสุด 1 ตารางเมตร ประกอบด้วยถาดวางวัตถุดิบ ขนาด 0.85×1.2 ตารางเมตร จำนวน 1 ชั้น รองรับน้ำหนักวัตถุดิบได้สูงสุด 5 กิโลกรัม/ครั้ง ระบบดูดความชื้นด้วยพัดลมดูดอากาศ 2 ชุด ใช้แผงโซล่าเซลล์ขนาด 5 วัตต์
2) แบบ 4 ชั้น เหมาะสำหรับใช้งานในเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการ OTOP หรือ SME มีพื้นที่อบแห้งสูงสุด 4 ตารางเมตร ประกอบด้วยถาดวางวัตถุดิบ ขนาด 1×1 ตารางเมตร จำนวน 4 ชั้น รองรับน้ำหนักวัตถุดิบได้สูงสุด 20 กิโลกรัม/ครั้ง ระบบดูดความชื้นด้วยพัดลมดูดอากาศ 2 ชุด ใช้แผงโซล่าเซลล์ขนาด 10 วัตต์
“ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์แบบน็อคดาวน์ เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคและอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และชุมชนผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอย่างยั่งยืน พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ภาคอุตสาหกรรม วิสาหกิจชุมชน ผลักดันให้เกิดการนําไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน…” ดร.ชุติมา กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเชิงพาณิชย์ ติดต่อได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว. (วีรยุทธ พรหมจันทร์) โทร. 0 2577 9000, 0 2577 9129 โทรสาร 0 2577 9009 อีเมล weerayuth_p@tistr.or.th หรือที่ “วว. JUMP” https://tistrservices.tistr.or.th/