ซินเจนทา จับมือ NIA ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตร

  •  
  •  
  •  
  •  

บริษัทซินเจนทา จับมือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรมการเกษตร ระบุเป็นก้าวสำคัญในด้านนวัตกรรม ความยั่งยืน และการทำงานร่วมกันในภาคการเกษตรในอนาคต เน้นให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นร่วมกัน ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของภาคการเกษตรไทยและผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมการเกษตร หวังสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรอย่างปลอดภัย และช่วยส่งเสริมระบบนิเวศการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า การที่ NIA ได้จับมือกับบริษัทซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ในครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการใช้พลังของนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทางการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยรวบรวมทั้งศักยภาพและทรัพยากรของพวกเราเข้าด้วยกัน ช่วยสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมการเกษตรได้นำวิธีการแก้ปัญหามาใช้ในตลาดได้อย่างมีประเสิทธิภาพ  ซึ่งเราเชี่อว่าจะสามารถปลดล็อคศักยภาพของภาคการเกษตรได้ และนำมาซึ่งความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมการเกษตรไทย

ทั้งนี้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาของผู้ประกอบการนวัตกรรมการเกษตร โดยจะส่งเสริมด้านทรัพยากรที่จำเป็น ช่องทางการแลกเปลี่ยนความรู้และโอกาสในการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้จะนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีโดยนำนวัตกรรมมาใช้ในสังคมเกษตรกรรม โดยบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในด้านโซลูชั่นส์ด้านการเกษตรยุคใหม่ มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาและความท้าทายต่างๆ ในอุตสาหกรรมการเกษตร ส่วนซินเจนทาได้ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรต่างๆ เพื่อค้นพบสารอารักขาพืชที่ล้ำสมัย รวมถึงเทคโนโลยีการเกษตรที่ช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้อย่างตรงจุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง และช่วยเพิ่มผลผลิตมากยิ่งขึ้น

ด้านนางสาววรรณภร วัฒนาเกษมสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนทางธุรกิจ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด กล่าวว่า พันธกิจของเราคือการใช้นวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อนให้เราพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และสามารถทางออกให้กับเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงสุด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการทำเกษตรอย่างยั่งยืน เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการนวัตกรรมการเกษตรและช่วยสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการทำงานร่วมกัน โดยการแบ่งปันความรู้และแนวทางแก้ปัญหาแบบใหม่ ผ่านความร่วมมือกับ NIA ในครั้งนี้”

“การร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแค่พัฒนาความก้าวหน้าของเทคโนโลยี แต่ยังรวมไปถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมการเกษตรให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเกิดการสร้างอาชีพ และการพัฒนาภาคการเกษตรทั้งหมด อีกทั้งแนวทางปฏิบัติรูปแบบใหม่ที่เกิดจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยดึงดูดการลงทุน เพิ่มโอกาสในการจ้างงานและก่อให้เกิดความยั่งยืนและความมั่นคงของอาหารในอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อๆไป ทั้งนี้ทั้งสององค์กรมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็นโอกาสที่รออยู่ข้างหน้า และจะทำงานร่วมกันเพื่อดึงศักยภาพของนวัตกรรมการเกษตรของไทยออกมาให้เต็มที่ การร่วมมือนี้ถือเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและบริษัทเอกชนที่แสดงให้เห็นถึงการร่วมแรงกันเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในอนาคต” นางสาววรรณภร กล่าวเสริม